ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทย์ฯ เร่งรัดนำเทคโนโลยีใหม่การถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อวัณโรค ยกระดับการควบคุมและรักษาวัณโรคในจังหวัดเชียงราย ให้เป็นต้นแบบระดับนานาชาติ เพื่อยุติวัณโรค ในปี พ.ศ.2573


กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ Japan International Cooperation Agency (JICA) ประเทศญี่ปุ่น ลงนามความร่วมมือทางวิชาการโครงการ Technical Cooperation Project for Accelerating Social Implementation of Science and Technology (TCP/ASIST) โดยมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ Mr. Kazuya Suzuki หัวหน้าผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) สำนักงานประเทศไทย เป็นผู้ลงนามบันทึก ร่วมกับผู้แทนกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566

สำหรับความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลสำเร็จของโครงการ “SATREPS project 2015-2019” โดยเฉพาะการใช้การแพทย์จีโนมิกส์หรือการแพทย์แม่นยำ สำหรับการควบคุมวัณโรคในแหล่งระบาดและการรักษาผู้ป่วยเพื่อยุติวัณโรค ตลอดจนมุ่งพัฒนาแนวทางการควบคุมวัณโรค ร่วมกับ กองวัณโรค กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อยุติวัณโรคในประเทศไทย

1

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า วัณโรคยังเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย ที่ทำให้ประเทศไทยยังไม่บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG)  ประเทศไทยยังเป็น 1 ใน 14 ประเทศของโลกที่มีภาระวัณโรคสูง ในแต่ละปีมีผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิตประมาณ 1.2 หมื่นราย จำนวนผู้ป่วยวัณโรคของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการใช้มาตรการต่างๆ ซึ่งต้องมีมาตรการใหม่เพิ่มเติม เพื่อเร่งรัดให้ยุติวัณโรคให้เป็นไปตามเป้าหมายการลดวัณโรคอย่างน้อยร้อยละ 12.5 ต่อปี

ทั้งนี้ ในช่วงปี พ.ศ.2558-2562  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมกับ School of International Health (SIH), Graduate School of Medicine, Faculty of Medicine, มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินการโครงการ “Integrative Application of Human and Pathogen Genomic Information for Tuberculosis Control” โดยได้รับการสนับสนุนร่วมกันจากทั้งสองประเทศ ภายใต้โปรแกรม Science and Technology Research Partnership for Sustainable Development (SATREPS) เกิดผลสำเร็จที่นำไปใช้สนับสนุนยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค เช่น การถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อ Mycobacterium tuberculosis (MTB) เพื่อระบุสายพันธุ์และประเมินความไวยาของเชื้อ การตรวจการแสดงออกของยีน (Gene Expression) เพื่อวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรค (Active TB disease) การตรวจ Interferon-gamma release assay (IGRA) เพื่อวินิจฉัยผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง (latent TB infection) และตรวจยีนย่อยยา N-Acetyltransferase 2 (NAT2) เพื่อป้องกันตับอักเสบจากยาต้านวัณโรค 

2

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ในปี พ.ศ.2565 JICA ได้เปิดตัวกรอบความร่วมมือด้านเทคนิคระหว่างประเทศ “Technical Cooperation Project (TCP)” เน้นการเร่งรัดนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อประชาชน Accelerating Social Implementation of Science and Technology (TCP/ASIST) รัฐบาลไทย โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เสนอโครงการ TCP/ASIST จนได้รับการพิจารณารับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านทาง JICA โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี 

สำหรับปี พ.ศ.2566 นี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินการโครงการศูนย์ความเป็นเลิศวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้านวัณโรค (TB Medical Science Excellent Center, TB-MSEC) ซึ่งเป็นการบูรณาการทางห้องปฏิบัติการและเครือข่ายวิจัยด้านวัณโรคระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อนำเทคโนโลยีที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พัฒนาในโครงการ SATREPS ไปให้บริการในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1, 2 และ 7 ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง และได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อแปลผลพันธุกรรมของเชื้อวัณโรค เพื่อจัดทำแนวทางการใช้ข้อมูล WGS ของเชื้อวัณโรคด้านระบาดวิทยา 

ดังนั้นการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้านวัณโรคและเครือข่ายพันธมิตรจากกรมควบคุมโรค และเขตสุขภาพ จะเป็นกิจกรรมสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดผลสำเร็จในโครงการ TCP/ASIST นี้ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีแผนในการขยายการดำเนินงานเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนโครงการเป็นระยะเวลา 3 ปี

3

“ภายใต้โครงการ TCP/ASIST กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ JICA ได้จัดทำโครงการ The Project for Social Implementation of Infectious Disease Control Utilizing Genomic Information and Innovative Technology โดยนำผลสำเร็จของโครงการ SATREPS ได้แก่ การตรวจวินิจฉัยวัณโรคและการเฝ้าระวังการระบาดด้วยวิธีถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและการตรวจ IGRA มาใช้ในการศึกษาระบาดวิทยาของการแพร่และการดื้อยาของเชื้อ
วัณโรคและการตรวจทางพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคและเจ้าบ้านเพื่อวางแผนการรักษาเฉพาะบุคคล เป็นต้น โครงการนี้มุ่งเน้นความร่วมมือในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะในเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลทางจีโนมิกส์ ทั้งในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค และบุคลากรในเขตสุขภาพที่ 1, 2, 4, 5, 7 และ 8 โดยมีจังหวัดเชียงรายและโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เป็นต้นแบบ พัฒนาศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในภูมิภาคเพื่อสนับสนุนการแพทย์จีโนมิกส์สำหรับผู้ป่วยวัณโรค โดยมีความร่วมมือด้านการพัฒนาแนวทางกับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ กองวัณโรค กองระบาดวิทยา สถาบันโรคทรวงอก สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ และพัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลและวิจัยนโยบายร่วมกับภาคมหาวิทยาลัยทั้งคณะวิทยาศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อีกด้วย” นพ.ศุภกิจ กล่าว

3