ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นำร่องให้ประชาชนเข้าถึงผลการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ สร้างระบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม “ผูกพันธุ์” เพื่อให้แพทย์นำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนป้องกันและรักษาโรคอย่างเฉพาะเจาะจง และแม่นยำมากยิ่งขึ้น ป้องกันการแพ้ยารุนแรง 


นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เห็นความสำคัญเกี่ยวกับการแพ้ยารุนแรงของผู้ป่วย จึงสร้างระบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม “ผูกพันธุ์” ขึ้น เพื่อรายงานผลการตรวจพันธุกรรมของผู้ป่วย นำไปสู่การประเมินโอกาสที่จะเกิดการแพ้ยารุนแรงของผู้ป่วยว่ามีโอกาสมากน้อยเพียงใด ซึ่งการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์จะทำให้แพทย์ผู้รักษาสามารถเลือกใช้ยาหรือปรับขนาดยา ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยและทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากการแพ้ยา

1

สำหรับผลการตรวจเภสัชพันธุศาสตร์เพียงครั้งเดียวจะสามารถใช้ได้ตลอดชีวิต ซึ่งแพทย์ เภสัชกร และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูลผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และใช้ประโยชน์ในการรักษาต่อไปได้ 

1

ทั้งนี้ การตรวจทางพันธุกรรมแรกที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นำร่องให้บริการแก่ประชาชน ได้แก่ ผลการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์และเพื่อป้องกันการแพ้ยารุนแรง โดยแบ่งออกเป็น 4 การทดสอบ 

ได้แก่ 1. การตรวจยีน HLA-B*58:01 สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาอัลโลพูรินอล (Allopurinol) 2. การตรวจยีน HLA-B*15:02  สําหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) 3. การตรวจยีน HLA-B*57:01 สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาอะบาคาเวียร์ (Abacavir) และ 4. การตรวจยีนย่อยยา NAT2 ในผู้ป่วยวัณโรคที่ได้รับยาไอโซไนอาซิด (Isoniazid)

4

นพ.ยงยศ กล่าวว่า ปัจจุบันการตรวจเภสัชพันธุศาสตร์ 4 การทดสอบ สามารถตรวจได้ที่ห้องปฏิบัติการเครือข่ายของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่งทั่วประเทศ โดยนำร่อง “ผูกพันธุ์” ที่โรงพยาบาลมหาราช จ.นครราชสีมา นำไปทดลองใช้เป็นแห่งแรก

5

1

นพ.ยงยศ กล่าวต่อไปว่า ระบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม ”ผูกพันธุ์” สร้างขึ้นโดยที่ผู้ใช้งานทุกประเภท ต้องกรอกรายละเอียดส่วนบุคคล และทำการยืนยันตัวตนในขั้นตอนสมัครใช้งานระบบ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในข้อมูลของผู้ป่วย โดยผู้ใช้งานแบ่งออกเป็น 3 ประเภทได้แก่ 1. ประชาชนซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลผลการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ของตนเอง 2. แพทย์และเภสัชกร สามารถเข้าถึงข้อมูลผลการตรวจจากการค้นหาข้อมูลด้วยเลขบัตรประชาชนหรือชื่อและนามสกุล และต้องส่งคำขอเข้าถึงข้อมูลไปยังประชาชนผู้เป็นเจ้าของก่อนถึงจะดูข้อมูลได้ 3. เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการเป็นผู้รายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการลงในระบบผูกพันธุ์ 

4

นพ.ปิยะ ศิริลักษณ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า “ผูกพันธุ์” เป็นระบบที่รองรับ การแสดงข้อมูลผลการตรวจบนแอปพลิเคชันระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคลหรือ personal health record ต่างๆ เช่น หมอพร้อม health link และ health for you สามารถช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลผลการตรวจเภสัชพันธุศาสตร์ของตนเองได้ และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการตรวจซ้ำซ้อนและลดค่าใช้จ่ายในการรักษาหากมีอาการแพ้ยารุนแรงเกิดขึ้น 

5

นอกจากนี้ “ผูกพันธุ์”ยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล หรือ HIS Hospital Information System ทำให้สามารถส่งข้อมูลผลการตรวจเข้าสู่ระบบของโรงพยาบาลได้ แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยเสียก่อน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า “ผูกพันธุ์” จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของทางการแพทย์และช่วยให้แพทย์นำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนป้องกันและรักษาโรคอย่างเฉพาะเจาะจงและแม่นยำมากยิ่งขึ้น 

สำหรับโรงพยาบาลที่สนใจใช้งาน สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์การแพทย์จีโนมิกส์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทร. 02 951 0000 ต่อ 98096 หรือที่เว็บไซต์ http://phukphan.dmsc.moph.go.th