ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มูลนิธิรักษ์ไทย ชี้ ความสำเร็จของโครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ด้วยชุดบริการ RRTTPR สามารถผลักดันให้กลุ่มประชากรชายรักชาย เข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาไปจนถึงความสำเร็จในการเปิดคลินิกนอกเฉพาะกลุ่ม เพิ่มการเข้าถึงบริการได้มากขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดด้วยเข็มฉีดยาก็มีการเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองมากขึ้นเช่นกัน


นายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวถึงโครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ด้วยชุดบริการ RRTTPR ซึ่งมีกรอบระยะเวลาโครงการระหว่างปี 2564-2566 ว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ปี 2560-2573 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมและภาครัฐ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนโลก (Global Fund) โดยใช้หลัก RRTTPR (Reach-Recruit-Test-Treat-Prevention-Retain เข้าถึง-เข้าสู่บริการ-คัดกรอง-รักษา-ป้องกัน-คงอยู่ในระบบ) 

เพื่อลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรค ซึ่งในส่วนของภาคประชาสังคม ทางมูลนิธิรักษ์ไทย เป็นองค์กรรับทุนหลักจาก Global Fund และกระจายต่อแก่องค์กรรับทุนรองหลายสิบแห่งในพื้นที่ 20-30 จังหวัด เพื่อสร้างการเข้าถึง (Reach) กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรค และโน้มน้าวให้เข้ามารับการตรวจ (Recruit) เพื่อที่จะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาหรือป้องกันโรคต่อไป ขณะที่ในส่วนของภาครัฐ ทางกรมควบคุมโรคจะเป็นแม่งานหลักในการขับเคลื่อนในเรื่องการสร้างมาตรฐาน การอบรม การตรวจรักษา 

"ทั่วโลกมีเป้าหมายร่วมกันในการควบคุมโรคเอดส์ให้ได้ภายในปี 2573 ส่วนวัณโรคจะซับซ้อนกว่าและยังคงอยู่กับสังคมไทยไปอีกนาน ทั้ง 2 โรคนี้องค์การสหประชาชาติพยายามผลักดันให้เป็นโรคที่ควบคุมได้ ไม่เป็นภัยต่อสังคม เราจึงกำหนดเป้าหมายด้านโรคเอดส์ คือทำให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่มีน้อยลง ส่วนคนที่ติดเชื้อ ต้องทำให้เข้ามาตรวจเร็ว รักษาเร็วจนไม่สามารถแพร่ต่อไปได้ เช่นเดียวกับวัณโรคที่มีเป้าหมายเหมือนกันคือทำอย่างไรให้วัณโรคลดน้อยลง 

“ส่วนงบประมาณของโครงการนี้มาจาก Global fund ซึ่งประเทศไทยก็อยู่ในเครือข่ายที่ได้รับทุนจากโครงการนี้ โดยมูลนิธิรักษ์ไทยจะเป็นองค์กรที่บริหารจัดการงบประมาณลงไปในภาคีเครือข่ายที่ทำงานในแต่ละกลุ่มประชากร ส่วนกรมควบคุมโรคก็จะทำงานในส่วนของภาครัฐ เช่น การกระจายให้มีเครื่องมือในการตรวจรักษา ขณะเดียวกัน งบประมาณในการรักษาอีกส่วนก็จะมาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่ส่วนที่ไทยเราไม่มีงบประมาณคือส่วนที่จะลงไปเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ก็จะมีทุนจากต่างประเทศมาสนับสนุน" นายพร้อมบุญ กล่าว

นายพร้อมบุญ กล่าวว่า ในส่วนของการทำงานของภาคประชาสังคมในรอบระยะเวลาดำเนินโครงการที่ผ่านมา ในด้านกลไกการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย จะเน้นให้ตัวแทนกลุ่มประชากรเป้าหมายเข้ามีส่วนร่วมเป็นตัวแทนในการทำงาน เช่น หากต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ยาเสพติดด้วยเข็มฉีดยา ก็จะมีเพื่อนของผู้ที่ใช้สารเสพติดหรือตัวผู้ใช้สารเสพติดเอง เข้ามาเป็นตัวแทน หรือในกลุ่มชายรักชาย กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ก็จะมีตัวแทนของตัวเองร่วมขับเคลื่อนในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายภายใต้หลักการ "เพื่อนถึงเพื่อน" รวมทั้งสนับสนุนด้านอุปกรณ์ องค์ความรู้ และที่สำคัญคือต้องมีความสามารถในการอธิบายให้ได้ว่าทำไมกลุ่มเป้าหมายควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อและรับการรักษาโดยเร็ว

นายพร้อมบุญ กล่าวอีกว่า การดำเนินโครงการมีผลสำคัญกับกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชายซึ่งขณะนี้สามารถเปิดคลินิกของกลุ่มตัวเองได้ นี่เป็นความสำเร็จของโครงการนี้ เพราะคนกลุ่มนี้ถ้าให้ไปโรงพยาบาลก็อาจจะรู้สึกอึดอัด แต่เมื่อมีคลินิกเฉพาะกลุ่ม คนกลุ่มนี้ก็จะรู้สึกสบายใจในการมารับบริการ ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์สามารถเข้าถึงกลุ่มประชากรชายรักชายได้ได้ รวมทั้งเกิดผลเชิงนโยบายคือ สปสช. ก็ร่วมให้งบสนับสนุนการดำเนินการด้วย ไม่ใช่แค่จากต่างประเทศอย่างเดียว

ในส่วนของกลุ่มเสี่ยงเอชไอวีที่มาจากการใช้สารเสพติดด้วยเข็มฉีดยานั้น แต่ละองค์กรที่เป็น node เช่น จ.เชียงใหม่ จ.ตาก จ.สงขลา จ.นราธิวาส ฯลฯ ประมาณ 20-30 จังหวัด จะมีกลไกในการเข้าถึงประชากร มีเจ้าหน้าที่ที่เป็นตัวแทนกลุ่มประชากรเข้าร่วมทำงาน มีโครงการพิเศษที่สามารถเอาเข็มฉีดยาที่สะอาดไปให้ด้วยวิธีเพื่อนถึงเพื่อน ซึ่งก็สามารถสร้างการเข้าถึงได้ในระดับหนึ่ง โดยผลการดำเนินงานระหว่างเดือน ม.ค. 2564 ถึง มี.ค.2565 สามารถเข้าถึงผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีดในพื้นที่ 20 จังหวัดทั้งสิ้น 18,447 คน

ทั้งนี้ นอกจากผลในเชิงปริมาณและคุณภาพแล้ว โครงการนี้ยังพยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายหรือกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติก็พยายามผลักดันเรื่องประกันสุขภาพได้อย่างทั่วถึง หรือในด้านผู้ใช้ยาเสพติด ปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในแง่ที่เอื้อกับการทำงานมากขึ้น มีการพูดถึงเรื่องการบำบัดและลดอันตรายอันเกิดจากการใช้ยาเสพติด เป็นต้น