ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในบรรดาประเทศที่กล่าวได้ว่าเจริญทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างสหรัฐอเมริกา ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพยังคงเป็นภาระที่ชาวอเมริกันต้องแบกรับและฉุดให้คุณภาพชีวิตที่ควรจะดีงามลดต่ำลงอย่างน่าใจหาย

 

เว็บไซต์ซีบีเอสนิวส์เผยว่า สำนักสำมะโนประชากรของสหรัฐอเมริกา (Census Bureau) ออกแถลงข้อมูลเชิงบวกทั้งรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 จำนวนประชากรฐานะยากจนลดต่ำลงร้อยละ 1.2 และจำนวนประชากรขาดประกันสุขภาพลดลงอีกร้อยละ 1.3 อย่างไรก็ตาม แม้นักวิจัยอาวุโสของศูนย์จัดอันดับความสำคัญด้านงบประมาณและนโยบาย (Center on Budget and Policy Priorities) ยืนยันว่าข้อมูลเชิงบวกดังกล่าวสำรวจพบเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่จากการประเมินด้านมาตรวัดความยากจน (Supplemental Poverty Measure) กลับบ่งชี้ว่าค่ารักษาพยาบาลที่แพงลิบลิ่วยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักให้ชาวอเมริกันหลายล้านคนจมอยู่กับความยากไร้

สำหรับมาตรวัดความยากจนซึ่งรายงานครั้งแรกในปี 2553 โดยอ้างอิงจากข้อมูลของปี 2552 คำนวณอัตราความยากจนโดยครอบคลุมไปถึงปัจจัยอื่นที่นอกเหนือจากตัวเลขอย่างเป็นทางการ เช่น คำนวณรวมไปถึงปัจจัยด้านรายได้จากประกันสังคมและเครดิตภาษี ขณะเดียวกันก็หักลบค่าใช้จ่ายตามจริง เช่น ค่าใช้จ่ายในการทำงานและค่ารักษาพยาบาล

จากการคำนวณพบว่าเมื่อรวมค่ารักษาพยาบาล ซึ่งหมายถึงเบี้ยประกันการจ่ายร่วม การจ่ายประกันร่วม ค่ายาที่สั่งจ่าย และค่ารักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องแล้ว ทำให้มีจำนวนชาวอเมริกันที่ตกอยู่ภายใต้เส้นความยากจนในปี 2558 เพิ่มเติมจากสถิติของทางการอีก 11.2 ล้านคน หรือร้อยละ 3.5 และยังแสดงว่าตัวเลขดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งสะท้อนให้เห็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2551 ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะค่ายา และความพยายามของผู้รับประกันและนายจ้างที่ต้องการผลักภาระค่าใช้จ่ายมาที่ผู้ป่วยมากขึ้น

รายงานสำรวจสำมะโนประชากรยังชี้ด้วยว่า ชาวอเมริกันที่มีประกันสุขภาพอย่างน้อยในช่วงใดช่วงหนึ่งของปีก่อนได้เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 90.9 โดยกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือรายได้ต่ำกว่า 25,000 ดอลลาร์/ปี (ราว 873,187 บาท) มีอัตราผู้ไม่มีประกันสุขภาพลดลงร้อยละ 1.7 อันเป็นอัตราสูงสุดที่พบจากการสำรวจ เทียบกับร้อยละ 0.8 ในกลุ่มที่มีรายได้ 100,000 ดอลลาร์/ปี (ราว 3.49 ล้านบาท) หรือมากกว่า ซึ่งสะท้อนว่ากฎหมายประกันสุขภาพเริ่มบรรลุผลลัพธ์การขยายการเข้าถึงประกันสุขภาพแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยรายได้น้อย

อีกด้านหนึ่ง นักวิเคราะห์ของศูนย์จัดอันดับความสำคัญด้านงบประมาณและนโยบายชี้ให้เห็นความซับซ้อนของสถานการณ์ดังกล่าวว่า การสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงประกันสุขภาพโดยเฉพาะประกันสุขภาพในวงเงินที่สามารถซื้อหาได้นั้น ในอีกทางหนึ่งอาจกลายเป็นการบีบให้ประชาชนมีภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลมากขึ้น เมื่อเทียบกับก่อนที่จะมีประกันสุขภาพ และเป็นไปได้ว่าผู้ที่เพิ่งมีประกันสุขภาพอาจหลีกเลี่ยงการใช้บริการสุขภาพมาตลอดเมื่อครั้งที่ยังไม่มีประกันสุขภาพ

กล่าวได้ว่า ประกันสุขภาพเมดิเคด (Medicaid) นับเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้อัตราการเข้าถึงประกันสุขภาพสูงขึ้นในหมู่ชาวอเมริกัน ดังที่ข้อมูลของสำนักสำมะโนประชากรสหรัฐอเมริกาชี้ว่ารัฐได้เข้าร่วมในโครงการขยายประกันสุขภาพเมดิเคดตามกฎหมายประกันสุขภาพ (Affordable Care Act, ACA) ทำให้มีอัตราประชากรขาดประกันสุขภาพลดลงร้อยละ 2.4 ในปี 2558 เทียบกับร้อยละ 2.1 ในรัฐที่ไม่ขยายการเข้าถึงประกันสุขภาพ

นอกจากนี้ ข้อมูลตลอดหลายปีที่ผ่านมายังได้ชี้ให้เห็นอัตราการขาดประกันสุขภาพซึ่งแตกต่างไปตามแต่ละรัฐ ดังที่รัฐแมสซาชูเซตส์มีอัตราประชากรมีประกันสุขภาพสูงสุดและมีอัตราการขาดประกันสุขภาพเพียงร้อยละ 2.8  ต่างจากรัฐเท็กซัสซึ่งมีอัตราการขาดประกันสุขภาพสูงถึงร้อยละ 17.1

จนถึงทุกวันนี้ ชาวอเมริกันก็ยังคงต้องเผชิญปัญหาภาระหนักจากค่ารักษาพยาบาลที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้สำเร็จเสียที

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์ซีบีเอสนิวส์ : Health care costs still push Americans into poverty

ขอบคุณภาพจาก www.pdamerica.org

ที่มา: http://www.cbsnews.com/news/health-care-costs-still-push-americans-into-poverty/