ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เขตสุขภาพที่ 4 ร่วมกับ สปสช.เขต 4 วางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มผู้ป่วยไตวายสิทธิบัตรทอง เน้นคัดกรอง การติดตามในชุมชนโดยมี อสม.เป็นกลไกเฝ้าระวัง พร้อมเตรียมความพร้อมของหน่วยฟอกเลือด จัดหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ให้เพียงพอสำหรับ 1 เดือน

นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สปสช.เขต 4 สระบุรี ได้หารือร่วมกับ นพ.สมยศ ศรีจารนัย สาธารณสุขนิเทศ เขตสุขภาพที่ 4 กระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคไต จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อวางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในกลุ่มผู้ป่วยไตวายสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทองโดยเฉพาะหากเกิดกรณีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ฟอกเลือดมีการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

นพ.ชลอ กล่าวว่า ในปี 2563 พื้นที่เขตสุขภาพที่ 4 มีจำนวนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 5,783 ราย ประกอบด้วย จ.นนทบุรี 1,941 ราย ปทุมธานี 1,504 ราย อยุธยา 943 ราย สระบุรี 439 ราย ลพบุรี 421 ราย อ่างทอง 202 ราย นครนายก 170 ราย และสิงห์บุรี 163 ราย

ขณะที่การกระจายหน่วยบริการล้างไตผ่านช่องท้องมี 27 แห่งในพื้นที่ 8 จังหวัด นนทบุรี 7 แห่ง ปทุมธานี 5 แห่ง พระนครศรีอยุธยา 3 แห่ง สระบุรี 3 แห่ง ลพบุรี 4 แห่ง สิงห์บุรี 2 แห่ง นครนายก 2 แห่ง และอ่างทอง 1 แห่ง ส่วนหน่วยบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมี 68 แห่งประกอบด้วย นนทบุรี 17 แห่ง ปทุมธานี 18 แห่ง พระนครศรีอยุธยา 9 แห่ง สระบุรี 6 แห่ง ลพบุรี 7 แห่ง อ่างทอง 5 แห่ง สิงห์บุรี 3 แห่ง และนครนายก 3 แห่ง

ทั้งนี้ การสำรวจความต้องการด้านเวชภัณฑ์ 3 รายการ ได้แก่ 1.ความต้องการหน้ากากอนามัย 2.แอลกอฮอล์ และ 3.เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เบื้องต้นสำรวจเพื่อให้เพียงพอสำหรับใช้ 1 เดือน พร้อมทั้งจัดทำแบบสอบถามความพร้อมของหน่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม กรณีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโควิด-19 พบว่าภาพรวมหน่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมยังไม่มีความพร้อมในการฟอกเลือดให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังฯ ที่ติดเชื้อ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้วางกลยุทธ์ในการบริหารจัดการเพื่อจำกัดพื้นที่กลุ่มเสี่ยง จำกัดบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องติดต่อกับกลุ่มเสี่ยง และเพื่อให้การบำบัดทดแทนไตแก่ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายอย่างปลอดภัย โดยมีการวางมาตรการรองรับคือเน้นการคัดกรอง การติดตามในชุมชนโดยทำงานร่วมกับทีมควบคุมโรคสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เน้นสร้างเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นกลไกเฝ้าระวังในชุมชน และมีการสำรวจความพร้อมของหน่วยฟอกเลือด ระบบการรายงานข้อมูลผู้ป่วย สถิติการติดเชื้อในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต และจะมีการประชุมเพื่อลงแผนปฏิบัติการกันต่อไป