ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘โควิด-19’ นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ถูกอ้างอิงถึงบ่อยครั้ง ในฐานะสารตั้งต้นของการพัฒนาเทคโนโลยีและระบบบริการสุขภาพ ภายในเวที ‘สัมมนาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาแพลตฟอร์มบริการการแพทย์ดิจิทัลปฐมภูมิ’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2567 โดยมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นเจ้าภาพ

แพลตฟอร์มหนึ่งที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการแพร่ระบาดโควิด-19 คือ ‘A-MED’ ซึ่ง ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ ผู้อำนวยการกลุ่มนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลสุขภาพการแพทย์ สวทช. บอกเล่าว่า การเกิดขึ้นของ A-MED มากจากความคิดที่ว่า แพทย์และผู้ป่วยไม่น่าเจอกันได้ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดีจะต้องมีเครื่องมือเอาไว้ติดต่อ บันทึกข้อมูล ติดตามผู้ป่วย ฯลฯ จนกลายมาเป็นอีกหนึ่งระบบสุขภาพทางไกล (Telehealth) ที่ใช้เวลาพัฒนาภายใน 2 เดือน เพื่อให้ทันใช้งานในระหว่างการแพร่ระบาดระยะแรก แต่เมื่อทำเสร็จแล้วก็ยังไม่ได้ใช้ เพราะการแพร่ระบาดเริ่มมีท่าทีสงบลง

กระทั่งการระบาดที่เกิดขึ้นในระลอกถัดมาที่มีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้น ช่วงนั้นหน่วยบริการบางแห่งมีการบันทึกข้อมูลผ่าน Google Sheet ขณะที่จำนวนผู้ป่วยมีอยู่หลักหมื่น ถึงแสนคน จึงได้มีการตัดสินใจนำเอา A-MED ไปนำเสนอในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งภายใน 3 วันก็ได้มีการมีทำระบบขึ้นมา และภายใน 1 สัปดาห์ก็สามารถพัฒนาจากระบบเล็กให้เป็นระบบใหญ่ได้ จนในที่สุดก็สามารถขยายได้ทั่วประเทศ

“เราทำมาเรื่อยๆ นำเสนอแต่ละโรงพยาบาลเพื่อดูว่าจะเชื่อมตรงไหนได้บ้าง แต่ทุกครั้งที่นำเสนอ สิ่งที่ได้กลับมาคือความต้องการของโรงพยาบาลของแต่ละแห่ง เราก็ปรับปรุงมาเรื่อยๆ จนมีเกือบ 200 เวอร์ชันที่เป็นซอฟต์แวร์” ดร.กิตติ ระบุ

เมื่อมาถึงช่วงเวลาที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ออกนโยบายดูแลตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) และได้มีการพูดคุยกันถึงระบบตรวจสอบ นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่เกิดระบบการแพทย์ทางไกล (Telehealth) ที่ทุกคนยอมรับ

ต่อมาสู่นโยบาย ‘เจอ แจก จบ’ ที่ให้ผู้ป่วยสามารถรับยาได้ที่ร้านยา ซึ่งได้พูดคุยกับสภาเภสัชกรรม จนเกิดร่วมมือกัน โดย ดร.กิตติ เล่าว่าตลอดระยะเวลานั้นแทบนอนไม่หลับ เนื่องจากต้องคอยปรับระบบให้เหมาะสม แต่เมื่อทุกอย่างเริ่มซาลง จึงเริ่มกลับมาคิดว่า ‘เราควรจะต้องมีอะไรบางอย่างมาติดตามประชาชน’

“โจทย์ของเราเลยเป็นการแพทย์ปฐมภูมิ เพราะมีปัญหาเรื่องความแออัดในโรงพยาบาล จนมาเป็นเกิดเป็น 16 กลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยรับยาได้ที่ร้านยา (Common Illness) และก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น A-MED Care เพื่อรองรับตรงนี้” ดร.กิตติ กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีร้านยาที่เข้าร่วมโครงการในระบบราว 1,800 แห่ง มีการให้บริการรวมแล้วราว 1.9 ล้านครั้ง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกภายหลังจากการประกาศนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

แม้ว่า A-MED จะมีระบบการบันทึกการให้บริการ ยืนยันตัวตน ส่งข้อมูลเพื่อเบิกจ่าย แต่เมื่อผ่านไปก็พบว่ายังมีระบบอื่นที่อยู่ในร้านยาอีก เช่น ระบบบริหารคลังยา ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับ A-MED ทำให้ร้านยายังต้องเปิดโปรแกรมหลายตัว ขณะเดียวกันก็พบว่าในตลาดยังมีอีกหลายแพลตฟอร์ม จึงคิดว่าน่าจะทำงานร่วมกันได้ จนท้ายที่สุดได้เกิดความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน

“เราเลยต้องถอยกลับไปเป็นจุดเชื่อมต่อการดูแล การพิสูจน์ตัวตนฝั่งที่เป็นหน้าบ้านก็ให้เอกชน ส่วน A-MED จะเหมือนระบบคลาวด์ ซึ่งแต่ละอันก็จะมีระบบบริหารจัดการตัวเอง และข้อมูลก็จะถูกเก็บไว้ในคลาวด์กลางภาครัฐ” ดร.กิตติ ระบุ

อย่างไรก็ดี A-MED ยังได้มีฟีเจอร์ใหม่เพื่อนำมาสนับสนุนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ รวมไปถึงจะมีการเชื่อมกับ ‘Health Link’ ที่เป็นการดูข้อมูลประวัติผู้ป่วย เพื่อที่จะรู้ว่าผู้ป่วยได้รับยาอะไร จากที่ไหนแล้วบ้าง

ดร.กิตติ ระบุทิ้งท้ายว่า การเกิดขึ้นของ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ จะทำให้มีนวัตกรรมหน่วยบริการเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องมาดูเรื่องของการขยายคลาวด์ รวมถึงเมื่อข้อมูลยิ่งมาก การป้องก็จะต้องเข้มข้นมากขึ้นด้วย เพื่อรองรับหน่วยบริการได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันนอกเหนือจากร้านยาแล้ว ตอนนี้ A-MED เองยังได้ขยายไปตามหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ เช่น คลินิกการพยาบาล คลินิกเวชกรรม คลินิกแพทย์แผนไทย ฯลฯ ด้วยเช่นกัน

หากมองว่า A-MED คือระบบหลังบ้านในการบริหารงานด้านปฐมภูมิ ‘Arincare’ ก็นับเป็นหน้าบ้านของระบบร้านยา ซึ่ง ธีระ กนกกาญจนรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรินแคร์ จำกัด อธิบายว่า Arincare คือสตาร์ทอัพที่เข้ามาสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเรื่องของการดูแลสุขภาพก็เป็นหนึ่งในคีย์ของเทคโนโลยี

ฉะนั้นสิ่งที่คิดก็คือ ทำอย่างไรที่จะสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ (เภสัชกร) ให้ดีขึ้น โดยในขณะนี้ Arincare ได้ให้การดูแลและสนับสนุนร้านยาแล้วราว 4,500 แห่ง ทั้งเรื่องซอฟต์แวร์, Supply Chain ตลอดจนเรื่อง Telehealth

“เรามีระบบเข้าไปช่วยร้านยาชุมชน เพราะบางแห่งเภสัชกรทำตั้งแต่พบลูกค้า สอบถามอาการเบื้องต้น และเมื่อมีคนไข้เยอะก็จะยิ่งใช้เวลานาน สิ่งที่เราทำคือเข้าไปช่วยลดเวลาของเขา ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” ธีระ กล่าว

สำหรับตัวอย่างฟีเจอร์ของ Arincare ที่ทำขึ้นมาเพื่อเภสัชกรนั้น มีตั้งแต่ระบบการแจ้งเตือนยาที่กำลังจะหมดอายุในสต๊อก ระบบให้คำแนะนำระหว่างจ่ายยา หรือเรื่องของการแพ้ยา เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เขามองว่าแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็มีผลกระทบต่อการทำงาน

อย่างไรก็ดี ในเรื่องของใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Prescription) นั้น Arincare ทำมาตั้งแต่ก่อนจะมีโควิด-19 โดยการเชื่อมต่อกับโรงพยาบาล หรือให้คำปรึกษาออนไลน์ เพื่อให้แพทย์สามารถส่งข้อมูลมาที่ร้านยาได้ รวมไปถึงยังมีระบบการแจ้งเตือนไปที่เภสัชกร ในกรณีที่ต้องติดตามผู้ป่วยอีกด้วย

รวมถึงในระยะหลัง เมื่อเห็นว่าผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นยังมีระบบส่งต่อ หรือสามารถนัดหมายเพื่อใช้ Telemedicine กับโรงพยาบาลที่เชื่อมต่อได้ ซึ่งหลังจากผ่านการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มา ก็ได้มีการทำงานเรื่องการส่งต่อมากกว่า 60 พื้นที่ ใน 27 จังหวัด

“Arincare มองว่าเทคโนโลยีเข้ามาช่วยปิดช่องว่าง และมาช่วยให้เราเดินไปในจุดที่อยากไปต่อได้” ธีระ ระบุ

ในช่วงท้าย ธีระ ระบุว่า ในฐานะเทคโนโลยีของผู้ให้บริการระบบร้านยา ‘รายแรกและรายเดียว’ ของประเทศไทยที่ได้มาตรฐาน ISO ซึ่งในช่วงโควิด-19 ก็ได้มีการพัฒนาสิทธิบัตรต่างๆ เช่น ใบสั่งแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ Telehealth หากหน่วยงานใดอยากพัฒนา Arincare ก็ยินที่ดีที่จะนำเอาไปเผยแพร่ให้เกิดการต่อยอดต่อไป