ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

งานวิจัย 'การถ่ายโอนบริการด้านยาจากโรงพยาบาลสู่ร้านยาชุมชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล' จากทีมนักวิจัยเครือข่ายสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้สรุปผลการศึกษาวิจัย หลังจากศึกษาและสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มตัวอย่าง พบว่า มี 3 บริการจากร้านยาชุมชนใกล้บ้าน ที่ประชาชนต้องการมากที่สุด 

ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1. การตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้น 2. การดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (การรับยาต่อเนื่อง) และ 3. การดูแลฉุกเฉินที่เกี่ยวกับการใช้ยาและการฉีดวัคซีน 

ขณะเดียวกัน ยังระบุด้วยว่า บริการที่ร้านยามีศักยภาพและสามารถรับถ่ายโอนภารกิจมาจากโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มี 8 บริการ ประกอบด้วย 1. การวัดความดัน 2. การวัดระดับน้ำตาลในเลือด 3. การจัดส่งยาถึงบ้าน 4. การให้คำปรึกษาการใช้ยา และดูแลจัดยาที่เหมาะสมให้กับคนไข้ 5. การอธิบายผลข้างเคียงจากการใช้ยาและติดตามอาการไม่พึงประสงค์ 6. การให้คำปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์ หรือช่องทางอื่นๆ 7. การตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้น 8. การรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 

นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังระบุด้วยว่า ทั้ง 8 บริการที่ร้านยามีศักยภาพให้บริการแทนโรงพยาบาลได้ จะมีต้นทุนการบริการส่วนเพิ่มขึ้นมา ซึ่งอยู่ระหว่าง 187.50 - 312.50 บาท ต่อการให้บริการผู้ป่วย 1 คนต่อ 1 ครั้ง หรือคิดเป็นวันละ 822 - 1,378 บาทต่อวัน ซึ่งหากจะให้ร้านยาในกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้บริการแทนโรงพยาบาล รัฐบาล หรือผู้กำหนดนโยบายควรให้ค่าตอบแทนแก่ร้านยาตามจำนวนนี้ 

ในรายละเอียดการวิจัย ระบุด้วยว่า ได้สอบถามประชาชนที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ใช้บริการร้านยาเป็นประจำรวม 255 คน และยังสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้บริการ ทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้บริหารโรงพยาบาลซึ่งเข้าร่วมโครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน 24 คน ร้านยาชุมชน ที่มีสิทธิและศักยภาพเข้าร่วมโครงการรับยาที่ร้านยาฯ 70 ร้าน ร้านยาชุมชนที่เข้าร่วมโครงการรับยาที่ร้านยาฯ และดำเนินการไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี อีก 165 ร้าน และเครือข่ายองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาเภสัชกรรม สมาคมร้านยา สมาคมเภสัชกรรมชุมชน กระทั่งได้ความเห็นเชิงนโยบายดังกล่าวออกมา 

อย่างไรก็ตาม ในมุมของผู้ให้บริการ และการให้บริการ จากการสัมภาษณ์เชิงลึกทั้ง 3 ส่วนคือ ผู้บริหารโรงพยาบาล ร้านยา และเครือข่ายองค์กรที่เกี่ยวข้อง มองตรงกันว่า ร้านยาเป็นอีกตัวช่วยที่จะลดความแออัดของโรงพยาบาลได้อย่างดี 

แต่กระนั้น แนวทางการดำเนินโครงการที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ภาครัฐก็ควรต้องสนับสนุนงบประมาณให้แก่ร้านยาชุมชนเพื่อให้บริหารจัดการยาได้เอง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการส่งยาจากโรงพยาบาลแม่ข่ายไปร้านยาในเครือข่าย และสร้างความคล่องตัวให้กับร้านยา 

รวมไปถึงร้านยาชุมชน ตั้งข้อสังเกตว่า ภาครัฐควรเจรจากับบริษัทตัวแทนจำหน่ายยา เพื่อให้ร้านยาชุมชนได้ซื้อยาในราคาเท่ากันกับที่โรงพยาบาลจัดหา 

ทีมนักวิจัยเครือข่าย สวรส. ระบุในงานวิจัยในมุมของผู้รับบริการ หรือประชาชนทั่วไปที่ไปร้านยาเป็นประจำ โดยหากมีบริการเรื่องการตรวจคัดกรองโรค การวัดความดัน และการดูแลฉุกเฉินเรื่องการใช้ยา จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาชนตัดสินใจเลือกเดินเข้าร้านยาเพื่อไปรับบริการมากกว่าไปโรงพยาบาล 

แต่ในส่วนผู้ให้บริการ ที่มีศักยภาพในการบริการมากขึ้นและพร้อมรับการถ่ายโอนภารกิจจากโรงพยาบาล การบริการต่างๆ ก็ควรอยู่ในกรอบการควบคุมและกำกับโดยโรงพยาบาลแม่ข่าย เพื่อให้การดูแลประชาชนมีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ 

อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ 
https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/6039