ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากการเจอว่า Pain point ของตนเอง คือ ‘ผลลัพธ์แบบเดิม’ ทำให้ ‘คุณภาพการบริการต่ำ’ บุคลากรแพทย์มีเวลาจำกัด จำนวนผู้ป่วยจำนวนมากที่รอการรักษา และผู้ป่วยยังเข้าถึงบริการได้ยาก แถมด้วยค่าใช้จ่ายแฝงที่สูง โดยเฉพาะกับคนที่ต้องเดินทางมาจากอำเภอไกลๆ เพื่อมารับบริการ 

'โรงพยาบาลวารินชำราบ' โรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็กใน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี จึงได้ ‘ปรับเปลี่ยน’ ด้วยการจัดระบบบริการสุขภาพโดยใช้และต่อยอดโครงการสนับสนุนต่างๆ จากระบบสาธารณสุข มาเป็นกลไกและเครื่องมือในการยกระดับการให้บริการ เสริมด้วยการเชื่อมร้อยเครือข่ายบริการสุขภาพ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการลดความแออัดในโรงพยาบาล และเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วย 

รวมถึงทำให้โรงพยาบาลสามารถใช้ทรัพยากรต่างๆ ทั้งกำลังคน อุปกรณ์เทคโนโลยีทางการแพทย์ต่างๆ และที่สำคัญคือ 'เวลา' จากทีมแพทย์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือมีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษา 

1

นอกจากนี้โรงพยาบาลวารินชำราบยังได้ออกแบบระบบภายในองค์กรสำหรับให้บุคลากรทางการแพทย์จัดสรรเวลาทำงาน และเวลาส่วนตัวของพวกเขาเองให้ลงตัว เพื่อให้มีเวลาออกไปดูแลผู้ป่วยภายนอกที่รอนัดหมายจากหน่วยบริการอื่นๆ 

จนปัจจุบันสามารถลดเวลาการมารอรับบริการที่โรงพยาบาลเหลือเพียงแค่ 15 นาที จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 202 นาที หรือก็คือลดไปกว่า 3 ชั่วโมง ส่วนค่าเดินทางที่เป็นค่าใช้จ่ายแฝงเมื่อต้องไปพบแพทย์ เฉลี่ยเหลือเพียง 59 บาท จากเดิมที่ต้องจ่ายกันเฉลี่ย 135 บาทขึ้นไป 

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากจำนวนบุคลากรทางการแพทย์เพียง 22 คน ซึ่งต้องดูแลเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนใน 6 อำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อีก 19 แห่ง ขณะที่จำนวนประชากรใน อ.วารินชำราบ ก็มีมากถึง 1.6 แสนคน และยังไม่นับรวมอำเภอข้างเคียง

ทุกอย่างประสบความสำเร็จได้เพราะการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและวางแนวทางอย่างชัดเจนผ่าน 'แผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้กับประชาชนของโรงพยาบาลวารินชำราบ และเครือข่ายที่เข้าร่วมบริการสุขภาพในพื้นที่' 

เนื่องจากหากกางแผนนี้ออกมา จะเห็นเลยว่าโรงพยาบาลวารินชำราบใช้วิธีดึงเอาศักยภาพของหน่วยบริการปฐมภูมิทั้งของรัฐที่มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นเครือข่าย และจากเอกชนในพื้นที่ เช่น ร้านยา คลินิกเอกชน ฯลฯ ให้เข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยที่อยู่นอกโรงพยาบาลให้มากที่สุด โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่ต้องได้รับยา หรือการตรวจสุขภาพร่างกาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลก็ได้ 

เหล่านี้ยังนำไปสู่แผนการทำงานร่วมกันของเครือข่าย โดยโรงพยาบาลวารินชำราบสร้างกลไกเชื่อมโยงระหว่างทุกสถานพยาบาลลูกข่ายเข้าด้วยกัน เริ่มจากทำระบบการส่งต่อผู้ป่วย นำข้อมูลของผู้ป่วยที่จำเป็นเข้ามาเป็นระบบเดียวกัน เพื่อให้เกิดการส่งต่อผู้ป่วยไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

3

ขณะที่ในส่วนของ รพ.สต. ทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวของโรงพยาบาลวารินชำราบจะช่วยดูแลผู้ป่วย ทั้งกรณีผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาล รวมถึงกรณีที่ผู้ป่วยมีสมาร์ทโฟนก็สามารถนัดหมายกับโรงพยาบาลเพื่อใช้ระบบเทเลเมดิซีนได้ด้วยเช่นกัน 

แต่ที่เจ๋งกว่านั้น คือ การใช้ระบบเทเลเมดิซีนเข้าไปอยู่ในร้านยาที่เข้าร่วมเป็นเครือข่าย ซึ่งเป็นร้านยาชุมชนอบอุ่นที่เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในระบบของ สปสช. ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในโครงการร้านยาโมเดล 3 ด้วย โดยถูกเรียกว่า 'โมเดล 3 พลัส' 

ทำให้เป็นมากกว่าแค่ผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านยาแทนไปโรงพยาบาล แต่จะให้ผู้ป่วยได้คุยกับแพทย์ เพื่อซักถามอาการได้ด้วย โดยเลือกวัน-เวลานัดเอง แม้แต่วันหยุดก็ยังสามารถพบแพทย์ได้ โดยสำหรับสิทธิบัตรทองไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแต่อย่างใด 

“ภาพที่เกิดขึ้นคือพ่อค้าแม่ขายในตลาดสด หรือประชาชนทั่วไปที่ใช้สิทธิบัตรทองใน อ.วารินชำราบ เมื่อต้องการพบแพทย์ด้วยอาการเจ็บป่วยไม่รุนแรง ก็ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล แต่เข้าร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้เลย เพียงแค่ลงทะเบียน นัดหมายเวลาเจอแพทย์ มาให้ตามนัด ร้านยาจะจัดพื้นที่มิดชิดให้พูดคุยกับแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้ชีวิตประชาชนง่ายขึ้น และแพทย์ยังจัดสรรเวลาให้บริการได้อย่างเป็นระบบ” นพ.สุธี สุดดี รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลวารินชำราบ บอกกับ “The Coverage”

นพ.สุธี บอกอีกว่า โครงการร้านยาคุณภาพที่ประชาชนสิทธิบัตรทองสามารถรับยาแทนการไปรอรับที่โรงพยาบาลได้ เป็นอีกหัวใจสำคัญที่ทำให้โรงพยาบาลวารินชำราบบริหารจัดการดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น 

2

เนื่องจากนี่คือทางออกสำคัญในการเอาผู้ป่วยออกไปนอกโรงพยาบาล โดยจากสถิติการเข้ารับบริการที่ร้านยาใน อ.วารินชำราบ ซึ่งมีทั้งหมด 13 ร้านยาที่เข้าร่วม ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน มีการให้บริการไปแล้วกว่า 2.1 หมื่นครั้ง ซึ่งเฉพาะปี 2566 มีการเข้าบริการมากถึง 8,416 ครั้ง มากกว่าทุกปีตั้งแต่มีโครงการมา  

"เรา (โรงพยาบาลวารินชำราบ) พยายามใช้ทุกเครื่องมือ กลไก โครงการต่างๆ ที่มี เพื่อกระจายการบริการสุขภาพให้ออกไปจากโรงพยาบาลให้มากที่สุด เพื่อให้พื้นที่โรงพยาบาลเหลือไว้เฉพาะผู้ป่วยที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น ทั้งเตียง อุปกรณ์ บุคลกร จะได้โฟกัสกับการดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง ซึ่งหน่วยบริการภายนอก เข้ามาช่วยเราได้มาก และทำให้เราสามารถบริหารจัดการเวลา ภาระงานของแพทย์ในและนอกโรงพยาบาลได้" นพ.สุธี กล่าว

อีกหนึ่งสิ่งที่ยืนยันคำพูดของ นพ.สุธี ได้ คือ ตัวเลขการให้บริการสุขภาพของโรงพยาบาลวารินชำราบ ที่เดิม 100% ผู้ป่วยต้องเข้ามาโรงพยาบาลวารินชำราบเมื่อปี 2545 แต่ปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชนแห่งนี้ เหลือเพียงผู้ป่วยที่จำเป็นจริงๆ ต้องมารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพียงแค่ 11% เท่านั้น หรือลดไปกว่า 89% ซึ่งผู้ป่วยในจำนวนนี้ก็ยังได้รับบริการเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือความสะดวกยิ่งขึ้น

มากไปกว่านั้น โรงพยาบาลวารินชำราบยังเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่มีจำนวนผู้ไปใช้บริการรับยาที่ร้านยามากที่สุดในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 10 

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชนที่ใช้การบริหารจัดการจากทรัพยากรของโรงพยาบาลที่มีอยู่ มาพัฒนาการให้บริการดูแลรักษาประชาชน เพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อีกทั้งยังยกระดับให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นได้อีกด้วย