ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอวิชัย” ชี้ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังมี 3 ปัญหา “ประชาชนเข้าไม่ถึงบริการ-กำแพงเงิน-ความไม่เท่าเทียม 3 กองทุน” ชี้ ผลิตแพทย์เพิ่ม-สร้างโรงพยาบาลใหม่อาจเป็นการให้ยาผิด เตือน ควรยึดหลักสวัสดิการ ไม่ใช่ประชานิยม ชู “โรงพยาบาลบ้านแพ้ว” บริหารจัดการแบบองค์การมหาชน ขยายเตียง-เพิ่มการตรวจผู้ป่วยนอก-จัดบริการเชิงรุก” ได้ดี 


นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คบ.) เปิดเผยผ่านเวทีอภิปรายในหัวข้อ “ก้าวต่อไปในหลักประกันสุขภาพของ ประเทศไทยควรเป็นอย่างไร?” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมระดับชาตินานาชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย พ.ศ. 2566 (National UHC Conference 2023) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 ธ.ค. 2566 ตอนหนึ่งว่า สำหรับปัญหาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย (กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง กองทุนประกันสังคม และกองทุนข้าราชการ)  ในขณะนี้มี 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1. ความไม่เท่าเทียมของ 3 กองทุนหลัก 2. กำแพงเงิน และ3. ประชาชนยังเข้าไม่ถึงบริการ 

ทั้งนี้ สำหรับปัญหาแรกเรื่องกำแพงเงิน คือการที่ยังมีการเรียกเก็บเงินส่วนต่าง หรือเรียกเก็บเงินเพื่อลดการรอคอย ทำให้ประชาชนที่ใช้บริการยังต้องจ่ายเพื่อลดระยะเวลารอคิว และสุดท้ายความไม่เท่าเทียม จากการใช้งบประมาณจากกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนข้าราชการที่ดูแลประชากรประมาณ 5 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 9 หมื่นล้าน ส่วนประกันสังคมเป็นการจ่ายสมทบ ขณะที่บัตรทองดูแลประชาชนราว 47-48 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 1.5 แสนล้านบาท 

5

ส่วนเรื่องการเข้าไม่ถึงบริการของประชาชน เนื่องจากประชากรมีจำนวนมากขึ้น  ซึ่งหมายถึงเจ็บป่วยและอายุยืนมากขึ้น ขณะเดียวกันเทคโนโลยี และบริการก็ซ้ำซ้อนมากขึ้นเช่นกัน โดยตั้งแต่เกิดระบบบัตรทองขึ้นมา พบว่ามีความต้องการบริการเพิ่มขึ้น 2 เท่า แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาแพทย์เพิ่มขึ้นราว 3 เท่า ฉะนั้นแพทย์จึงไม่ได้ขาด แต่ปัญหาเกิดจากการกระจาย และมีกำแพงที่ทำให้แพทย์และผู้ป่วยไม่ได้พบกัน รวมถึงผู้ป่วยยังต้องรอคิวนานในบางพื้นที่ ทั้งคิวตรวจ CT Scan เป็นอาทิ  ทั้งที่เครื่องมือค่อนข้างมาก แต่ส่วนใหญ่บริหารเวลาแบบราชการ 

“หนึ่งสัปดาห์มีประมาณ 128 ชั่วโมง เวลาราชการมีแค่ 35 ชั่วโมง ฉะนั้นพอบริหารแบบราชการจึงไร้ประสิทธิภาพ คิวผ่าตัดยาวมาก เพราะว่าห้องผ่าตัดมีจำกัด ห้องตรวจ OPD (ผู้ป่วยนอก) ก็จะมีจำกัด ซึ่งหมอมีเยอะ ไม่ขาดแคลน นี่คือปัญหาสภาพที่เป็นอยู่” นพ.วิชัย ระบุ

นพ.วิชัย กล่าวอีกว่า ตัวอย่างการบริหารจัดการจากโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ซึ่งเป็นองค์การมหาชนนั้นสามารถขยายเตียงเพิ่มเป็น จำนวน 400 กว่าเตียงได้ มีการจัดบริการเชิงรุก ส่งเสริมให้เกิดโรงพยาบาลในหลายสาขา รวมถึงยังมีการเปิดที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะด้วย ตลอดจนมีการขยายห้องตรวจผู้ป่วยนอก (OPD) โดยไม่ต้องสร้างโรงพยาบาล แต่ใช้เป็นตึกที่มีพื้นที่ว่าง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสามารถพบแพทย์ได้มากขึ้น และยังสามารถลดเวลาการรอคอยได้ด้วย โดยไม่ได้ใช้งบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ฉะนั้นระบบโดยรวมขององค์การมหาชน หากสามารถบริหารได้ดีก็จะสามารถไปต่อได้

นอกจากนี้ ปัญหาที่ต้องระวังในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ สวัสดิการประชานิยม เพราะประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลางมากนาน จึงควรยึดหลักสวัสดิการสังคม ไม่ใช่ ประชานิยม เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกที่มีเงินเหลือมาก ขณะที่ประเทศร่ำรวยอย่าง ญี่ปุ่น อังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกาก็มีปัญหามาก ถ้าไม่ใช้ระบบบริการที่มีประสิทธิภาพ 

5

นพ.วิชัย กล่าวต่อไปว่า ตัวอย่างประชานิยมที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น การให้ล้างไตได้ทุกที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดความเสียหาย เพราะคุณภาพการให้บริการยังต่ำ เนื่องจากติดข้อจำกัด รวมถึงบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ขณะเดียวกันการจะแก้ไขก็ต้องระวังการให้ยาผิด เช่น การผลิตแพทย์เพิ่ม การเพิ่มโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ฯลฯ

“ประเทศไทยมีระบบปฐมภูมิ อย่าง รพ.สต. ซึ่งเป็นบริการด่านแรกที่ดีที่สุด เพราะให้บริการตลอด ส่วนเสาร์ อาทิตย์ก็มีเวรอยู่ และโรคส่วนใหญ่ก็เป็นโรคง่ายๆ ที่สามารถจัดการ เพราะหากเป็นหนักก็มีช่องทางที่ไปได้ทุกที่อยู่แล้ว” นพ.วิชัย ระบุ 

นพ.วิชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบคัดกรองเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ อย่างโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ที่ดูเรื่องความปลอดภัย ประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า และภาระงบประมาณ ฉะนั้นการรักษาต้นทุนจึงต้องรักษาไว้ รวมถึงยึดหลัก SAFE ได้แก่ ยั่งยืน (Sustainability) เพียงพอ (Adequacy) เป็นธรรม (Fairness) และประสิทธิภาพ (Efficiency)