ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

งานประชุมระดับนานาชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย พ.ศ. 2566 ภายใต้หัวข้อ “ทบทวนอดีตและแถลงการณ์สู่อนาคต” ที่จัดขึ้นโดย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ระหว่างวันที่ 12-13 ธ.ค. 2566  

ถือเป็นงานสำคัญที่ทำให้ไทยได้ทบทวนการดำเนินการที่ผ่านมาและสะท้อนให้โลกได้เห็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นตลอดหลายทศวรรษ เพื่อนำไปสู่การมองเห็นก้าวต่อไปของ ‘ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย’ ในอนาคต 

สำหรับหนึ่งในไฮไลท์ของการประชุมในครั้งนี้ก็คือการจัดเวทีอภิปรายที่ได้ดึงคีย์แมนคนสำคัญๆ ในระบบสาธารณสุขมาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในหัวข้อ “หลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อการพัฒนาสุขภาพ: เราผ่านอะไรมา และปัจจุบันอยู่ ณ จุดใด?” บนเป้าหมายที่จะทำให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าภาครัฐ เอกชน วิชาการ ประชาสังคม มาร่วมกันสังเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่ต้องพัฒนาต่อ อันจะนำไปสู่ความต่อเนื่องในการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ดีขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง 

5

พัฒนาให้ ครอบคลุม-เท่าเทียม ยังเป็นโจทย์สำคัญ

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. เปิดวงอธิปรายคนแรกด้วยการชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้ไทยกำลังจะมองไปข้างหน้า เพื่อร่วมกันยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าบนความท้าทายของสังคมในปัจจุบัน ซึ่งคำถามสำคัญก็คือ ระบบหลักประกันสุขภาพฯ ทำหน้าที่ดูแลคนทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยแล้วหรือยัง หรือว่าดูแลเฉพาะคนไทยที่มีบัตรประชาชนเท่านั้น เพราะขณะเดียวกันกลุ่มคนไทยไร้สิทธิ แรงงานข้ามชาติ ที่ยังเข้าไม่ถึงระบบบริการสาธารณสุขก็ยังมีอีกจำนวนมาก 

นอกจากนี้ ในอนาคตอาจต้องมองถึงความเป็นธรรมอย่างจริงจัง เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะดูแลคนไทยทุกคนและทุกฐานะ แต่อาจต้องมองไปถึงว่าการให้อย่างเท่าเทียมกันทั้งหมดเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือไม่ หรือมองไปถึงความเป็นธรรมที่ในมิติอื่นๆ มากขึ้น เช่น คนที่ต้องการมากก็ต้องให้มาก และคนที่ต้องการน้อย ก็ต้องให้น้อย 

5

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อไปว่า สำหรับ สวรส. เองก็ได้เข้าไปสนับสนุนทุนการวิจัยในระบบสุขภาพ เพื่อให้เกิดเป็นงานวิจัยที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเป็นระบบบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงยังได้เข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในการผลักดันให้งานวิจัยนำไปใช้ได้จริง ทั้งการขับเคลื่อนทางตรง โดยให้งานวิจัยพุ่งตรงไปยังผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งก็คือรัฐบาล และนักการเมือง 

รวมถึงการขับเคลื่อนทางอ้อม ที่หากผู้กำหนดนโยบายไม่สนใจ ก็จะใช้วิธีการให้องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับงานวิจัยออกไปสู่สาธารณะมากขึ้น เพื่อให้เกิดข้อเรียกร้องจากภาคสังคมไปยังฝ่ายการเมือง หรือฝ่ายนโยบาย ที่สุดท้ายก็ต้องเอาด้วยเพราะเป็นความต้องการของสังคม 

“ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพที่เอื้ออาทรต่อกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังนั้น ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เชื่อมโยงกับระบบบริการสาธารณสุขของเราที่จะยกระดับและพัฒนา จะมุ่งมาที่การรักษามนุษย์ในทุกมิติ ไม่ใช่แค่การรักษาโรค แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องอาศัยงานวิจัยที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์” ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าว

4

พัฒนาหลักประกันฯ ให้ดี สถานพยาบาลต้องมีคุณภาพ

มากไปกว่าการเข้าถึงสิทธิทางด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง ก็คือการได้รับบริการอย่างมีคุณภาพจากโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลต่างๆ ด้วย ซึ่ง พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ได้กล่าวถึงบทบาทการพัฒนา และรับรองคุณภาพระบบบริการที่จะเข้ามาส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่า ประเทศไทยเป็นประเทศต้นๆ สำหรับการสร้างความคุ้มครองในการเข้าถึงบริการ แต่ระบบสุขภาพไม่ใช่แค่การเข้าถึงและได้รับความคุ้มครองจากสิทธิ แต่ยังหมายถึงการเข้ารับบริการที่มีคุณภาพ และปลอดภัยด้วย

ทั้งนี้ ตั้งแต่เกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สรพ. ก็มีการพัฒนาการรับรองมาตรฐานสถานพยาบาลมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกสำคัญที่ช่วยผดุงไว้ซึ่งความปลอดภัยของผู้ป่วย อย่าง Healthcare Accreditation (HA) หรือการรับรองตามมาตฐาน จนที่สุดแล้วได้กลายมาเป็นองค์กรมหาชนที่ถูกกำหนดเพื่อเป็นหลักประกันให้กับประชาชนในการเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขว่าจะได้ไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน

นอกจากนี้ เมื่อปี 2556-2557 ยังได้มีงานวิจัยที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ช่วยยืนยันเกี่ยวกับคุณภาพและความปลอดภัยจากการรับรองมาตรฐาน ใน 4 ประเด็นสำคัญที่ได้จากการศึกษาจากการประเมินผลในแง่ประสบการณ์ของโรงพยาบาล ได้แก่ ระบบบริการจัดการความเสี่ยง ระบบการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล ความปลอดภัยด้านยา และสภาพแวดล้อมปลอดภัย ซึ่งเหล่านี้เป็นระบบบริการที่มอบต่อไปยังประชาชน 

“มีงานสำรวจเก็บข้อมูลเทียบระหว่างโรงพยาบาลจังหวัดที่ได้รับ HA กับโรงพยาบาลที่ไม่ได้รับ ซึ่งจากข้อมูลเห็นผลชัดในโรคสำคัญและต้องมีการเชื่อมต่อเป็นเครือข่าย พบว่า HA เป็นกลกไกที่เข้ามาช่วยยจัดการใหโรงพยาบาลมีความปลอดภัย และมีคุณภาพ ซึ่งขณะนี้เรากำลังขยับ เพื่อสร้างระบบบริการสุขภาพที่มีมาตรฐาน และความปลอดภัยสำหรับทุกคน” พญ.ปิยวรรณ กล่าว

5

พัฒนา สิทธิประโยชน์ให้หลากหลายรองรับทุกกลุ่ม

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. อีกหนึ่งคีย์แมนคนสำคัญของเวที ได้อธิบายถึงการพิจารณาชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. ว่า จะมีกรอบแนวทางอยู่ 8 ข้อ คือ 1. เสนอผ่านช่องทาง Green Chanel ที่เป็นปัญหาสุขภาพเร่งด่วน อาทิ โรคระบาด โรคอุบัติใหม่ หรือนโยบายที่สำคัญของรัฐ 2. เป็นข้อเสนอที่ใช้แทนของเดิม แต่ประสิทธิผลดีขึ้น และมีราคาถูกลงและเท่าเดิม ซึ่งสามารถเป็นสิทธิประโยชน์ได้เลยโดยไม่ต้องผ่าน คณะกรรมการ สปสช. 

3. การประเมินแบบรวดเร็ว 4. ผ่านกระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ตามปกติ 5. โรคหายาก 6. กระบวนการเจรจากับผู้ผลิตโดยใช้งบประมาณเท่าเดิม หรือถูกลง 7. การใช้กระบวนการคัดเลือกยา หรือเทคโนโลยีใหม่เป็นสิทธิประโยชน์ และ 8. การแพทยขั้นสูงสุด เพื่อยกระดับความเป็นเลิศด้านบริการ 

นพ.จเด็จ บอกต่อไปว่า จะเห็นได้ว่าแนวทางการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ไม่ใช่มีแค่กระบวนการเดียว แต่มีหลากหลายกระบวนการและสัดส่วนของสิทธิประโยชน์ในแต่ละวิธี ซึ่งสิ่งนี้จะมีความสำคัญในการพิจารณาสิทธิประโยชน์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้สิทธิประโยชน์ของกลุ่มประชาชนที่จะมีความหลากหลายมากขึ้นในอนาคต

5

พัฒนาการใช้งบฯ กองทุนบัตรทองที่เพิ่มทุกปี

นายน้อง เจริญนาค ผู้อำนวยการกองจัดทำงบประมาณด้านสังคม 3 สำนักงบประมาณ กล่าวว่า  การจัดสรรงบประมาณบัตรทองนั้นเพิ่มขึ้นอยู่ตลอด อย่างร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่กำลังจะเข้าสภาผู้แทนราษฎรนั้น ซึ่งมีกรอบวงเงิน 3.48 ล้านบาท โดยภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 เป็นจำนวนเงินราวๆ 2.95 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.26% ทว่า หากคิดเป็นงบประมาณของฝั่ง สธ. ทั้ง 16 หน่วยงาน และรวมงบบัตรทอง จะอยู่ราวๆ 3 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี ทางสำนักงบประมาณ จะพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อตอบโจทย์นโยบายรัฐ และเป้าหมายของ สธ. รวมถึงยังเป็นองคาพยพที่จะเข้ามาช่วยอภิบาลระบบให้เป็นไปได้ตามเป้าหมายที่บรรลุเอาไว้ในเม็ดเงินเท่าเดิม หรือเพิ่มขึ้นในอัตราที่ประเทศรองรับได้ ได้อย่างเหมาะสม

“เป้าหมายสุดท้ายของสำนักงบประมาณในฐานะหน่วยงานกลางที่คุมกระเป๋าเงินทั้งประเทศจะทำอย่างไรถึงจะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า” นายน้อง ระบุ 

s

พัฒนาผ่านการรวม 3 กองทุน

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ที่ปรึกษาผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงสิ่งที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนน้า จะต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน คือ การมีระบบหลักประกันสุขภาพสุขภาพระบบเดียวในประเทศ เพื่อสร้างความเป็นธรรม ประหยัดงบประมาณ รวมถึงสะดวกต่อการพัฒนาด้านคุณภาพ ตลอดจนการทำให้ประชาชนมั่นใจในการรับบริการกับหน่วยบริการโดยไม่รู้สึกว่าต้องเข้าโรงพยาบาลใหญ่ เพราะถ้าหากประชาชนยังไม่มั่นใจกับหน่วยบริการ นโยบายบัตรประชาชนใบเดียวไปที่ไหนก็ได้นั้นก็อาจจะไปต่อได้ยาก ซึ่งส่วนนี้เป็นโจทย์สำคัญสำหรับ สธ. โรงพยาบาลเอกชน และคลินิกต่างๆ 

มากไปกว่านั้น ควรจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ใน มาตรา 5 เพื่อให้ สปสช. สามารถดูแลผู้ที่พำนักอยู่ในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องดูสัญชาติ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลหรือร่วมจ่ายตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กำหนด หากทำได้ก็จะเกิดความเป็นธรรมสำหรับทุกคน

อีกทั้งการทำให้กองทุนบัตรทอง มีอำนาจการบริหารจัดการยาด้วยกองทุน รวมถึงสามารถต่อรองราคา กำหนด หรือซื้อได้ เพราะขณะนี้ยังเป็นการซื้อยาที่ซ้ำซ้อนและล่าช้า ซึ่งต้องเป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไขพัฒนาหากจะก้าวไปข้างหน้า 

“ตลอดกว่า 20 ปีที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พัฒนามาได้อย่างดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารอย่างเป็นธรรม มีการเลือกคณะกรรมการบอร์ดจากหลายภาคส่วน และเป็นเรื่องดี เกิดการเลือกตัวแทนกลุ่มต่างๆ เข้าไปอยู่ในระบบจนเกิดการแลกเปลี่ยน และส่งต่อองค์ความรู้” นายนิมิตร์ กล่าวตอนท้าย