สถาบันประสาทวิทยา ใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมองเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัด ลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด 4 ปี ผ่าตัดไปกว่า 60 ราย เล็งพัฒนา องค์ความรู้-นวัตกรรมทางการแพทย์ ตั้งเป้าเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องผ่าตัดสมอง
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูงโดยการนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมอง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาที่ทันสมัย ปลอดภัย ซึ่งความสามารถของหุ่นยนต์ตัวนี้ สามารถช่วยผ่าตัดได้หลายโรคและหลายหัตถการ
พญ.อัมพร กล่าวต่อไปว่า ตัวอย่างเช่น การผ่าตัดวางขั้วไฟฟ้าเพื่อหาจุดกำเนิดของโรคลมชัก การผ่าตัดวางเครื่องมือ DBS ในโรคพาร์กินสัน ผ่าตัดเนื้องอกในสมองทั่วไปและเนื้องอกที่บริเวณต่อมใต้สมองซึ่งอยู่ในส่วนลึก การผ่าตัดชิ้นเนื้อใน สมองส่วนลึก การผ่าตัดส่องกล้องในสมอง (Endoscope) หรือการผ่าตัดอื่นๆ ที่ต้องการความแม่นยำสูงหรืออยู่ในตำแหน่งที่ยากต่อการเข้าถึงด้วยวิธีการผ่าตัดแบบธรรมดา
ด้าน นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเสริมว่า ระยะเวลา 4 ปี หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมองตัวนี้ ได้ช่วยผ่าตัดผู้ป่วยโรคทางสมอง เช่น โรคลมชักที่รักษายากและมีความซับซ้อน โรคพาร์กินสัน เนื้องอก เลือดออกในสมอง ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ฯลฯ จากจำนวนผ่าตัดโรคทางสมองกว่า 60 ราย สถาบันประสาทวิทยาในฐานะที่เป็นสถาบันเชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคสมอง ไขสันหลัง และระบบประสาทของรัฐ ทั้งด้านวิชาการและการบริการ
นอกจากนี้ อีกพันธกิจหนึ่งที่สำคัญคือ การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมทางการแพทย์ ซึ่งในโลกปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สถาบันประสาทวิทยา จึงต้องพัฒนาเทคโนโลยีการบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัยตามไปด้วย โดยจุดประสงค์สูงสุดคือ การเห็นผู้ป่วยโรคสมอง ไขสันหลัง และระบบประสาทได้รับการดูแลที่ทันสมัย ได้รับความสะดวกสบาย มีสุขภาพดี และมีความสุขสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้
- 137 views