ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สูตินรีแพทย์ รพ.นราธิวาสฯ ลดตัวเลขแม่ตายหลังคลอดได้สำเร็จ วางระบบคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ดูแลตั้งแต่ รพ.สต. เชื่อมโรงเรียนแพทย์-รพช. ให้ปรึกษาตรวจผู้ป่วยร่วมกันแบบออนไลน์ทุกเช้า เผย ความท้าทายต่อไป รุกพื้นที่ห่างไกล 


พญ.เพ็ญแข รถมณี หัวหน้าแผนกสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ที่ผ่านมาในพื้นที่ จ.นราธิวาส เขตสุขภาพที่ 12 มีสถิติมารดาเสียชีวิตหลังคลอดสูง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 120-150 คนต่อแสนประชากรการเกิดแบบมีชีพ เนื่องจากค่านิยม และวัฒนธรรมของประชาชนในท้องถิ่นที่นิยมมีลูกมาก จึงทำให้มีอัตราความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ไม่ปลอดภัยสูง ขณะเดียวกันบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะสูตินรีแพทย์ก็มีไม่เพียงพอ รวมถึงระบบการส่งต่อที่อาจติดขัด และไม่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยบริการด้วยกันในพื้นที่ เหล่านี้นอกจากจะส่งผลให้เกิดสภาพการณ์ดังกล่าวแล้ว ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการจัดการปัญหาด้วย

อย่างไรก็ตาม ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลนราธิวาสฯ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อวางระบบการป้องกันมารดาตั้งครรภ์เสียชีวิตหลังคลอด โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงทุกกลุ่มอย่างครอบคลุม รวมถึงการมีการยกระดับการส่งต่อ การประสานการวางแผนการรักษาร่วมกันของบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับในพื้นที่ จึงทำให้ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของมารดาหลังคลอดเหลือประมาณ 20 คนแต่แสนประชากรการเกิดแบบมีชีพ ซึ่งเป็นผลสำเร็จหลังจากมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบทั้งจังหวัด 

พญ.เพ็ญแข กล่าวว่า สำหรับกระบวนการดูแลมารดาตั้งครรภ์และลดการเสียชีวิตหลังคลอดใน จ.นราธิวาส จะเริ่มจากการให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) พร้อมด้วยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คัดกรองหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่ และแบ่งกลุ่มอาการเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มตั้งครรภ์ปกติ กลุ่มเสี่ยงน้อย กลุ่มเสี่ยงปานกลาง และกลุ่มเสี่ยงสูง 

ทั้งนี้ หากพบว่าเป็นกลุ่มตั้งครรภ์ปกติ หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงน้อย จะดูแลโดย อสม. และ รพ.สต. แต่หากเป็นกลุ่มที่เสี่ยงปานกลาง จะส่งต่อให้กับโรงพยาบาลชุมชน ส่วนกรณีมีอาการเสี่ยงสูง ก็จะให้โรงพยาบาลทั่วไป คือ โรงพยาบาลนราธิวาสฯ ที่มีสูตินรีแพทย์ประจำ ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้

“แต่หากเป็นเคสที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ก็จะส่งต่อไปโรงพยาบาลศูนย์ที่เป็นเครือข่ายของเรา คือโรงพยาบาลยะลา โรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นระบบการส่งต่อผู้ป่วยมารดาตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ ที่ไร้รอยต่อ และรวดเร็ว” พญ.เพ็ญแข กล่าว 

พญ.เพ็ญแข กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ กระบวนการคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ระดับพื้นที่ จะมีการกำหนดโรงพยาบาลที่จะต้องคลอดเอาไว้เลย โดยวินิจฉัยจากสุขภาพและการจำแนกกลุ่มเสี่ยงการตั้งครรภ์ อีกทั้งทุกวันช่วงเช้า จะมีการปรึกษาและวางแผนการรักษาผู้ป่วยตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงทุกราย ระหว่างสูตินรีแพทย์ของโรงพยาบาลนราธิวาสฯ และแพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งหากพบความผิดปกติ หรือมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น ประเมินผู้ป่วยแล้วว่าอาจตกเลือดหากคลอดที่โรงพยาบาลชุมชน ก็จะให้ส่งตัวมาคลอดที่โรงพยาบาลนราธิวาสฯ ได้ทันทีเพื่อให้สูตินรีแพทย์ได้ดูแลใกล้ชิด 

หัวหน้าแผนกสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลนราธิวาสฯ กล่าวอีกว่า หลังจากนั้น เมื่อหญิงตั้งครรภ์เข้าสู่กระบวนการคลอด และกลับไปพักฟื้นที่บ้านแล้ว ยังมีระบบติดตามดูแลหลังการคลอด ซึ่งจะมีทีม อสม. และรพ.สต. ในแต่ละพื้นที่ ออกไปเยี่ยมบ้านตามกลุ่มอาการที่จะประเมินโดยสูตินรีแพทย์  โดยหากเป็นกลุ่มที่คลอดตามปกติ ก็ให้เยี่ยมบ้านติดตามอาการในระยะ 7 วัน แต่ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง ก็ให้เยี่ยมบ้านเร็วขึ้นใน 3 วัน 

“จากการประสานการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายใหญ่ของ จ.นราธิวาส ทำให้ระบบการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างหน่วยบริการในพื้นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัญหาเดิมที่เคยเป็นสาเหตุทำให้มารดาตั้งครรภ์เสียชีวิตก็ได้รับการแก้ไขปัญหา ทำให้ขณะนี้ จ.นราธิวาส ไม่มีมารดาตั้งครรภ์เสียชีวิต ที่มีสาเหตุมาจากการตั้งครรภ์อีกเลย แต่จะเจอการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยตั้งครรภ์ ที่มีโรคประจำตัว แต่ก็จำนวนน้อยเช่นกัน” หัวหน้าแผนกสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลนราธิวาสฯ กล่าว 

พญ.เพ็ญแข กล่าวตอนท้ายว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการกำหนดทิศทางของทีมผู้บริหารทั้งในเขตสุขภาพที่ 12 และโรงพยาบาลนราธิวาสฯ ที่ต้องการลดอัตราการเสียชีวิตของมารดาตั้งครรภ์ที่เป็นปัญหาใหญ่ในพื้นที่ โดยวางระบบให้ทุกเคสที่เสียชีวิตจะต้องรายงานผู้บริหารทันทีภายใน 24 ชั่วโมง และทบทวนการดูแลผู้ป่วยร่วมกันทั้งสูติแพทย์ทีมโรงพยาบาลนราธิวาสฯและทีมในเครือข่ายภายใน 7 วัน และในทุก ๆ 3 เดือนจะทบทวนระดับเขตร่วมกับอาจารย์แพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก รพ สงขลานครินทร์เพื่อร่วมให้ความเห็นและวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก

“ความท้าทายต่อไปคือการขับเคลื่อนเชิงรุก เพื่อเข้าไปยังพื้นที่ห่างไกลเพื่อตรวจสุขภาพของหญิงที่ต้องการตั้งครรภ์ เพื่อให้สุขภาพร่างกายมีความพร้อมสำหรับการตั้งท้อง เพราะตอนนี้ จ.นราธิวาส ยังพบว่า มีหญิงที่มีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน ความดัน แต่ยังคุมได้ไม่ดีพอแล้วปล่อยให้ตั้งท้องซึ่งเป็นความเสี่ยงอย่างมาก โดยจะร่วมกับทีมโรงพยาบาลชุมชนลงไปยังพื้นที่ เพื่อให้ความรู้ และตรวจสุขภาพร่างกายให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ เพื่อให้ปลอดภัยกับทั้งแม่และลูก” พญ.เพ็ญแข กล่าว