ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Service Plan ‘แม่และเด็ก’ เขตสุขภาพที่ 12 ทำงานเชิงรุก ลดตัวเลขแม่ตายหลังคลอดได้ใน 1 ปี ยกระดับ อสม. คัดกรองพาฝากครรภ์ช่วยวินิจฉัยท้องปลอดภัยได้เร็ว แถมกลยุทธ์หมอราวน์คนไข้ออนไลน์ ระหว่าง รพ.ชุมชน-รพ.ศูนย์ พร้อมเตรียมจัดรถโมบายอัลตราซาวน์ ลุยตรวจครรภ์พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้


พญ.เสริมศรี ปฐมพาณิชรัตน์ ประธานคณะกรรมการทำงานระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาอนามัยแม่และเด็ก เขตสุขภาพที่ 12 เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า สถิติมารดาเสียชีวิตหลังคลอดแบบมีชีพเมื่อปี 2565 ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งมี 7 จังหวัด ประกอบด้วย ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา พบว่าสูงถึง 65 คนต่อแสนประชากร ซึ่งมากกว่ากำหนดมาตรฐานจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ไม่ควรเกิน 17 คนต่อแสน และยังเป็นอันดับ 1 ของประเทศที่มีการเสียชีวิตสูงสุดด้วย 

ทั้งนี้ จากปัญหาดังกล่าว คณะกรรมการ Service Plan สาขาแม่และเด็กฯ ได้ร่วมกับทีมอาจารย์จากภาควิชาสูตินรีเวชกรรม และภาควิชาอายุรกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมวิเคราะห์ถึงสาเหตุร่วมกัน และพบว่าปัจจัยที่ทำให้มารดาเสียชีวิตหลังคลอดมีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1. การวินิจฉัยความเสี่ยงการตั้งครรภ์ล่าช้า 2. การรักษาล่าช้า และ 3. การส่งต่อล่าช้า 

พญ.เสริมศรี กล่าวว่า ผลการวิเคราะห์ดังกล่าว จึงนำไปสู่การวางกลยุทธ์ขับเคลื่อนเพื่อป้องกัน และลดการเสียชีวิต โดยเริ่มจากการเข้าไปยกระดับและพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับ โดยเฉพาะพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 12 สงขลา เพื่อให้ อสม. ได้ค้นหา และคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ให้มาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยเร็วก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยทำให้แพทย์วินิจฉัยความเสี่ยง หรือโรคต่างๆ หากพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยง หรือมีโรค อาการแทรกซ้อนได้ทันที  

อย่างไรก็ตาม หาก รพ.สต. ได้ตรวจเบื้องต้นแล้วพบว่าเกินกว่าศักยภาพที่จะดูแลได้ ก็จะส่งต่อเคสไปยังโรงพยาบาลชุมชน และหากเกินกว่าศักยภาพอีก จะมีระบบส่งต่อไปยังโรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลศูนย์ในแต่ละจังหวัด หรือท้ายสุดหากเสี่ยงสูงมากจะส่งต่อไปที่โรงพยาบาลระดับมหาวิทยาลัยที่เป็นเครือข่ายร่วมกัน ซึ่งทำให้มีการวินิจฉัยมารดาตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยง และเข้าสู่การรักษาได้รวดเร็วขึ้น 

พญ.เสริมศรี กล่าวอีกว่า เขตสุขภาพที่ 12 ยังได้ทำโครงการ 1 ห้องคลอด 1 จังหวัด โดยให้ทีมสูตินรีแพทย์ของโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปในแต่ละจังหวัด ให้เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย เพื่อให้คำปรึกษา และวางแผนการรักษาหญิงตั้งครรภ์ที่ดูแลรักษาอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน โดยจะประชุมและติดตามอาการทุกเคสผ่านระบบออนไลน์ในเวลา 08.40 น. ทุกวัน ซึ่งก็เหมือนเป็นการให้สูตินรีแพทย์จากโรงพยาบาลแม่ข่าย ได้เดินตรวจผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนได้ทุกวัน

นอกจากนี้ ในขณะเดียวกันโรงพยาบาลแม่ข่าย ก็จะได้รับทราบการรายงานเคสจากแพทย์โรงพยาบาบาลชุมชนกลับมาทุกวัน เพื่อวางแผนการรักษาให้กับทุกเคสได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพสูงที่สุด เสมือนได้รับการดูแลอยู่ในห้องคลอดเดียวกันทั้งจังหวัด 

พญ.เสริมศรี กล่าวด้วยว่า ในปี 2567 เขตสุขภาพที่ 12 ยังได้อนุมัติงบประมาณ 9 ล้านบาท เพื่อจัดหารถโมบายพร้อมเครื่องตรวจอัลตราซาวน์ ซึ่งได้มาทั้งหมด 45 เครื่อง โดยรถโมบายฯ จะขับเคลื่อนเชิงรุกเพื่อไปยังพื้นที่และคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และในจังหวัดอื่นๆ ของเขตสุขภาพที่ 12 

“จากการกำกับและติดตามการทำงานของหน่วยบริการ และโรงพยาบาลในทุกระดับเพื่อร่วมกันลดการเสียชีวิตของมารดาเสียชีวิตหลังคลอดตามกลยุทธ์ และแนวทางใหม่ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อน พบว่า ในปี 2566 มีสถิติลดลงมาที่ 23 คนต่อแสนประชากร จากเดิม 65 คนต่อแสนประชากรในปี 2565 และทำให้เขตสุขภาพที่ 12 ขยับหนีจากอันดับ 1 ที่มารดาเสียชีวิตหลังคลอดสูงที่สุด ไปอยู่อันดับที่ 8 ของประเทศในปีนี้ และปีถัดไปจะมีการขับเคลื่อนที่เข้มข้นกว่าเดิม เพื่อเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตให้ต่ำกว่า 17 คนต่อแสนประชากรให้ได้” พญ.เสริมศรี กล่าวตอนท้าย