ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นมแม่หยดแรกเปรียบเสมือนวัคซีนในการป้องกันโรค เพราะมีภูมิคุ้มกันโรคที่ไม่สามารถหาได้จากนมผง 

นอกจากนี้นมแม่ยังถือเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เพราะมีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่มีคุณค่าซึ่งช่วยในการเจริญเติบโตและสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก จึงควรให้ทารกกินนมแม่ต่อเนื่องตั้งแต่หลังคลอดจนถึงอายุ 6 เดือน

องค์การอนามัยโลก (WHO) และยูนิเซฟ (UNICEF) ให้คำแนะนำว่าเด็กทารกควรได้รับนมแม่ครั้งแรกภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด และควรได้กินนมแม่อย่างเดียวจนถึง 6 เดือน และกินนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสมจนถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น

ทว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันของไทย จากการสํารวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย (MICs6) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) พบว่า ปี 2562 อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน (EBF rate) อยู่ที่ 14% และเพิ่มขึ้นเป็น 28.6% ในปี 2565 (MICs7)

แม้ว่าแนวโน้มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงเป้าหมายที่ไทยและทั่วโลกกำหนดไว้ ซึ่งอยู่ที่ 50% ของจำนวนเด็กไทยทั้งหมด

เหตุที่ทำให้ไทยเรายังไม่บรรลุเป้าหมาย จากการสำรวจของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ปัจจัยและสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยไม่สำเร็จ ประกอบด้วย 1. แม่ต้องกลับไปทำงาน เพราะสิทธิการลาคลอดของแม่สามารถลาคลอดได้เพียง 98 วัน (ประมาณ 3 เดือน) 2. ส่วนหนึ่งแม่มีความเชื่อมั่นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลง เชื่อว่าน้ำนมตนเองไม่เพียงพอ และ 3. ไม่มีความรู้เพียงพอ

มากไปกว่านั้น การส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กก็อาจมีส่วนด้วยเช่นกัน อาทิ การโฆษณา การลดราคา การที่บริษัทหรือตัวแทนติดต่อกับแม่โดยตรง

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) และโฆษก สธ. ได้เปิดเผยในช่วงหนึ่งเมื่อต้นเดือน ก.พ. 2566 ถึงการศึกษา เรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก และปัจจัยทางสังคมของแม่ กับการเลี้ยงลูกด้วยนมผง” โดยเป็นการสำรวจการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก จากแม่จำนวน 330 คน ในกรุงเทพมหานคร (กทม.)

ผลสำรวจพบว่า แม่ที่ได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับนมผงจากบุคคลอื่นๆ เช่น บุคคลในครอบครัว เพื่อน และบุคลากรทางการแพทย์ มีแนวโน้มที่จะมีทัศนคติที่ดีและชื่นชอบนมผงมากกว่าแม่ที่ไม่เคยได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับนมผงจากบุคคลอื่นๆ นอกจากนี้ยังพบว่า แม่ที่เป็นแม่เลี้ยงเดียว หรือแม่ที่มีฐานะครอบครัวปานกลาง มีแนวโน้มที่จะชื่นชอบนมผงมากกว่าเช่นกัน

อีกทั้งแม่ที่เคยมีประสบการณ์หรือเคยได้รับการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กในสถานพยาบาล มีแนวโน้มที่จะใช้นมผงในการเลี้ยงลูกของตนเองมากกว่าแม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ หรือได้รับการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กในสถานพยาบาล ส่วนแม่ที่ต้องทำงานก็มีแนวโน้มที่จะป้อนนมผงให้ลูกมากกว่าแม่ที่ไม่ทำงาน

รวมถึงบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปก็มีผลด้วย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้หญิงมีบทบาทในการทำงานนอกบ้านมากขึ้น จึงส่งผลกระทบให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลง เพื่อให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตามความต้องการ และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย

เพราะนมแม่สามารถผลิตได้เองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถให้ลูกกินได้ทุกที่ ทุกเวลา นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ยังได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการทั้งร่างกายและสมอง และเป็นรากฐานแห่งชีวิตที่ดี ในระยะยาวของแม่และลูก

ดังนั้น การจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไปได้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่หัวเรือใหญ่อย่าง สธ. ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรมอนามัย ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

ทั้งนี้ สธ. ได้มีนโยบายในการส่งเสริมให้เด็กไทยทุกคนได้กินนมแม่ โดยมีเป้าหมายในปี 2568 ให้เด็กไทย 50% จะได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน

“เราสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน รวมถึงภาคประชาชน ขับเคลื่อนครอบครัว และสังคม สร้างสังคมนมแม่อย่างยั่งยืน เพื่อให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ในประเทศไทยประสบความสำเร็จ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว