ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. ตั้งเป้า 50% ของเด็กไทย ต้องได้กิน ‘นมแม่’ อย่างเดียว ตลอด 6 เดือนหลังคลอด ภายในปี 2568 ตามแผนยุทธศาสตร์องค์การอนามัยโลก


นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานงานแถลงข่าว “การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” พร้อมทั้งร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง ระหว่างกรมอนามัย และมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2565 เพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่องค์กรอนามัยโลกกำหนด

นพ.สุวรรณชัย เปิดเผยว่า นมแม่เป็นวัคซีนหยดแรกในการสร้างภูมิคุ้มกันของทารก เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระดับสติปัญญา ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่จากข้อมูลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562 โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ พบว่า มีเด็กไทยเพียง 34% ที่ได้กินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และมีเพียง 14% ที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้รับน้ำหรืออาหารอย่างอื่นผสม ในช่วง 6 เดือนแรก

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สธ.มีนโยบายในการส่งเสริมให้เด็กไทยทุกคนได้กินนมแม่ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือ "กินนมแม่ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด" "กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต" และ "กินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่อาหารตามวัย จนถึงอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น" โดยมีเป้าหมายในปี 2568 ให้เด็กไทย 50% จะได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน

2

นอกจากนี้ กรมอนามัยและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพลังที่สำคัญจากมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จึงเร่งดำเนินการส่งเสริมให้เด็กไทยได้กินนมแม่ ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนให้เด็กไทยทุกคนได้กินนมแม่เป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้แก่เด็กไทย

พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของแพทย์ พยาบาล บุคลากรด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มคุณแม่อาสา ที่เห็นประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจากสถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ได้รับความสนใจจากแม่และสังคมลดลง จึงได้จับมือกับกรมอนามัยร่างยุทธศาสตร์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ขึ้น เพื่อให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็น “วิถีของแม่และสังคมไทย” ประกอบด้วย  4 ประเด็นยุทธศาสตร์

1. การขับเคลื่อนนโยบายและกฎหมาย (Policy & Law Oriented) 2. การปลูกฝังและสร้างค่านิยม (Value and Culture Oriented) 3. การพัฒนาคุณภาพระบบบริการ (Quality of Service Oriented) และ 4. การจัดการความรู้และนวัตกรรม (Knowledge and Innovation Oriented) รวมทั้งลงนามความร่วมมือการขับเคลื่อนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาอย่างต่อเนื่อง

“นอกจากนี้ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ยังได้ร่วมกับกรมอนามัยจัดการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 8 เรื่อง เสริมพลัง สร้างความรู้ สู่วิถีนมแม่ อย่างยั่งยืน Step up Breastfeeding: Educate, Support and Sustain โดยมีราชวิทยาลัยกุมารเวชศาสตร์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ สภาการพยาบาล สมาคมโภชนาการเด็ก กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมด้วย เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และฟื้นฟูวิชาการการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ทันสมัย ในวันที่ 21-23 มีนาคม 2566 ซึ่งสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานทาง www.thaibfconference.net ตั้งแต่วันนี้ถึง 6 มี.ค. 2566 นี้” พญ.ศิริพร กล่าว