ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ตั้งเป้าภายในปี 68 ทารกไทย 50% ต้องได้กินนมแม่อย่างเดียวติดต่อกัน 6 เดือน ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก


​นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2564 ตอนหนึ่งว่า ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ควรให้ทารกกินนมแม่ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และกินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่อาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น 

อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ในปี 2562 พบว่ามีทารกไทยเพียงร้อยละ 34 ที่ได้กินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และมีเพียงร้อยละ 14 ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต และมีทารกเพียงร้อยละ 15 ที่ได้กินนมแม่ต่อเนื่องถึง 2 ปี จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกคนในสังคมต้องร่วมมือกันสนับสนุนและปกป้องให้เด็กไทยทุกคนได้กินนมแม่ตามสิทธิของเด็กเพื่ออนาคตของประเทศไทย

​“กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2568 ทารก ร้อยละ 50 จะได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายของทุกประเทศทั่วโลก” นายสาธิต กล่าว

​นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน เป็นเรื่องจำเป็นยิ่งขึ้น จากความสมบูรณ์ของสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่ช่วยในการเจริญเติบโตของเด็ก และสร้างภูมิคุ้มกันโรค และแม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ในทุกสถานการณ์

ทั้งนี้ ก่อนการให้นมลูกทุกครั้งควรเช็ดทำความสะอาดบริเวณเต้านมและหัวนม และล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที รวมทั้งสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่ให้นมบุตร แม้แต่ในกรณีที่แม่เป็นผู้เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อ หรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่แสดงอาการ ก็ยังคงสามารถให้นมลูกได้ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ได้ แต่ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมืออย่างถูกวิธี และห้ามใช้มือสัมผัสบริเวณใบหน้า จมูกหรือปาก รวมถึงการหอมแก้มลูก

​“ในกรณีที่แม่ติดเชื้อมีอาการรุนแรง แนะนำงดให้นมบุตร และอาจบีบน้ำนมทิ้งไปก่อน เพื่อให้แม่คงสภาพที่สามารถให้นมลูกได้เมื่ออาการดีขึ้น นอกจากนี้แม่หลังคลอดให้นมลูก ควรไปฉีดวัคซินเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ลดการเจ็บป่วยรุนแรง ซึ่งภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในแม่ยังสามารถส่งผ่านน้ำนมไปยังลูกได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

อนึ่ง นานาประเทศได้ร่วมกันกำหนดให้วันที่ 1-7 ส.ค. ของทุกปี เป็นสัปดาห์นมแม่โลก หรือ World Breastfeeding Week เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนเห็นความสำคัญและมีทัศนคติที่ดีในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำหรับประเทศไทย สธ.ได้รณรงค์การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สัปดาห์นมแม่โลกในเดือนวันแม่แห่งชาติ ภายใต้แนวคิด “A Shared Responsibility Project Breastfeeding : ร่วมมือร่วมพลัง ปกป้องสังคมนมแม่”