ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ช่วงฤดูใบไม้ร่วง ระหว่าง ก.ย. - ต.ค. ของทุกๆ ปี สหรัฐอเมริกามักต้องเผชิญกับภาวะฉุกเฉินจากการระบาดของไวรัสระบบทางเดินหายใจ หรือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันที่ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่” (RSV) ที่ทำให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ป่วยเป็นจำนวนมาก 

ไวรัส RSV แม้จะมีการส่งผลให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ เป็นไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล และหายใจดัง แต่ก็มีความแตกต่างเฉพาะตัวที่ควรระวังด้วย เนื่องจากมันอาจทำให้เกิดโรคร้ายแรงตามมาได้ ทั้งโรคปอดบวม หลอดลมอักเสบ รวมถึงระบบทางเดินหายใจอักเสบ ซึ่งเหล่านี้จะขับเน้นให้เกิดความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

ที่สำคัญไวรัส RSV สามารถเกิดกับเด็กได้ทุกคนแม้จะเป็นเด็กที่มีสุขภาพดีตั้งแต่เกิด และไม่มีโรคประจำตัวก็ตาม  

จากสถิติผู้ป่วย RSV ที่ผ่านมาในแต่ละปี ของสหรัฐฯ พบว่า การแพร่ระบาดมักจะเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก โดยเฉลี่ยมากถึง 8 หมื่นคน แต่ที่น่าสนใจคือพบในผู้สูงอายุที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปด้วย และยังมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 1.6 แสนคนต่อปี

มากไปกว่านั้น ในจำนวนดังกล่าว RSV ยังได้คร่าชีวิตเด็กไปมากถึง 300 คน และผู้สูงอายุอีก 1 หมื่นคนต่อปี

3

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีการพบว่า ไวรัส RSV เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการระบาดที่ “เร็วขึ้น” กว่าช่วงเวลาปกติ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย. เรื่อยมาจนถึงประมาณเดือน ก.ย. ปีเดียวกัน รวมถึงยังพบผู้ป่วย RSV ในกลุ่มที่ต้องมารักษาตัวที่โรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการรุนแรงอย่างผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า

ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ได้อธิบายถึงการแพร่กระจายของไวรัส RSV ว่า การแพร่กระจายจะเกิดขึ้นเมื่อมีคนไอ หรือจามใส่โดยตรง รวมถึงละอองในอากาศที่ปนเชื้อ RSV และไปเปื้อนบนพื้นผิวต่างๆ ซึ่งเมื่อมีการสัมผัสซ้ำก็มีโอกาสติดเชื้อ 

แต่ในช่วงที่ผ่านมาที่เกิดการระบาดของโควิด-19 และทั่วโลกได้มีมาตรการให้ผู้คนหมั่นล้างมือ รวมถึงใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรค ซึ่งมีส่วนช่วยในทางอ้อมให้หยุดการระบาดของ RSV ได้ระยะหนึ่ง

“ขณะนี้เราไม่อาจชะล่าใจได้ว่า RSV จะไม่ระบาดอีก เพราะที่ผ่านมาเกิดการระบาดน้อยลงนั้น สาเหตุมาจากมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่มาเอื้อช่วยให้ RSV หยุดชะงักตามไปด้วย” ดร.แดเนียล ไวน์เบอร์เกอร์ (Dr.Daniel Weinberger) รองศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาโรคจุลชีพ จากมหาวิทยาลัยเยล กล่าว

ดร.แดเนียล กล่าวอีกว่า ในปี 2566 นี้ ผู้ป่วย RSV ในสหรัฐฯ จะมีจำนวนใกล้เคียงหรือมากกว่าก่อนที่จะมีสถานการณ์โควิด-19 อีกทั้งการระบาดทั่วโลกจะเกิดขึ้นในเร็วนี้ๆ โดยตามช่วงเวลาเดิมคือประมาณ ก.ย. - ต.ค. หรือบางประเทศอาจเกิดระบาดเร็วกว่าช่วงเวลาปกติเล็กน้อย 

สำหรับมาตรการสำคัญในการระบาดครั้งนี้ของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ จะเป็นการใช้ Monoclonal antibody ซึ่งเป็นแอนติบอดีที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ออกแบบมาให้มีความจำเพาะที่ทางการสหรัฐฯ อนุมัติเพิ่มเติมให้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ RSV เป็นหนึ่งในนั้นที่ โดยนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีวัคซีนป้องกัน RSV ชนิดที่สามารถให้กับเด็กและผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทุกคน  

3

บทสรุปเบื้องต้นจากการศึกษาขององค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ในการใช้วัคซีน Monoclonal antibody ได้ไฟเขียวให้ใช้ยา nirsevimab ซึ่งวางตลาดในชื่อ Beyfortus ที่เป็นวัคซีนออกฤทธิ์ได้นานใช้ป้องกัน RSV 

แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ต้องฉีดในช่วงเวลาไหนกันแน่ เพื่อให้วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันการระบาดได้สูงที่สุด เพราะปัจจุบันไวรัส RSV มีการปรับตัว และปรับเปลี่ยนช่วงเวลาการระบาดที่อาจแตกต่างจากเดิม หรือต้องฉีดวัคซีนขณะที่อยู่ในช่วงการระบาดของโรค เพราะทุกอย่างมีผลต่อการใช้วัคซีนตัวนี้เพื่อป้องกัน 

ทั้งนี้ ตามคำแนะนำของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ ระบุไว้ว่า ให้ใช้วัคซีนกับทารกอายุน้อยกว่า 8 เดือนที่เกิดในช่วง RSV ระบาด หรือเป็นทารกที่เข้าสู่ช่วงระบาด RSV ในปีแรก ซึ่งมีผลทดลองแล้วพบว่า สามารถลดความรุนแรงของ RSV ได้และลดการไปโรงพยาบาลได้ถึง 80% 

ส่วนผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป CDC แนะนำให้ฉีดวัคซีนในช่วงเดือน มิ.ย. ควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ แต่วัคซีนสำหรับ RSV ที่ฉีดในกลุ่มนี้จะใช้ 2 ชนิดใน 1 โดส โดยจะช่วยป้องกัน RSV ได้อย่างน้อย 2-3 ฤดูกาล 

การอนุมัติวัคซีนสำหรับป้องกัน RSV ครั้งแรกในสหรัฐฯ นี้ ได้ทำให้เกิด “ความหวัง” ขึ้นอย่างแพร่หลายที่จะหยุดการระบาด หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีเครื่องมือที่ช่วยป้องกันโรคได้ 

ดร.คลอเดีย ฮอยเยน (Dr.Claudia Hoyen) ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมการติดเชื้อในเด็ก โรงพยาบาลเด็ก ยู.เอช.เรนโบว์ เบบี้แอนด์ชิลเดรน (UH Rainbow Babies and Children’s Hospital) เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ สะท้อนว่า ช่วงที่เรา (โรงพยาบาล และบุคลากรแพทย์) กังวลมากที่สุดคือช่วงก่อนการระบาด RSV เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าจะมีทารก หรือเด็ก แม้แต่ผู้สูงอายุคนไหนบ้างที่จะได้รับเชื้อ 

"แต่การมีวัคซีนเพื่อป้องกัน RSV พร้อมกับคำแนะนำการใช้งานอย่างถูกต้อง จะช่วยชีวิตผู้คนได้มากมาย โดยเฉพาะกับทารกแรกเกิด" ดร.ฮอยเยน ย้ำ 

อ่านข่าวฉบับเต็ม :
https://edition.cnn.com/2023/08/17/health/rsv-virus-timing-vaccine-antibody/index.html