ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนึ่งในโรคที่ควรต้องระวังอย่างยิ่งในช่วงปลายฝนต้นหนาวแบบนี้ก็คือ “โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส” (RSV) ที่แม้จะมีสุขภาพดีเพียงใด หรือไม่มีโรคประจำตัวเลยก็สามารถติดเชื้อได้ ที่สำคัญ “ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ” อีกด้วย

อีกทั้งยังติดต่อกันได้ง่ายผ่านละอองฝอยจากการไอจาม ผ่านสัมผัสน้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ป่วย ทั้งทางตรง และทางอ้อมอย่างการสัมผัสสิ่งของของผู้ป่วย 

มากไปกว่านั้น เชื้อไวรัส RSV ที่เข้าผ่านทางจมูก ปาก และเยื่อบุตา ยังสามารถทำให้เกิดโรคได้อีกด้วยโดยผู้ที่ได้รับเชื้อมักมีระยะฟักตัวของโรค เฉลี่ยอยู่ที่ 4-6 วัน หลังได้รับเชื้อ ซึ่งเมื่อติดเชื้อแล้วยังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 3-8 วัน 

ทั้งนี้ ในระยะแรกผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการเพียงเล็กน้อยคล้ายกับโรคไข้หวัด เช่น เป็นไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ฯลฯ แต่หากมีอาการรุนแรงจะมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย เสียงหายใจดังวี้ด รับประทานอาหารได้น้อย ซึมลง และอาจเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ดี ที่น่ากังวลที่สุด คือ กลุ่มเด็กเล็ก เพราะเชื้อมีโอกาสลุกลามไปยังระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หลอดลม เนื้อปอด จนทำให้เกิดอาการหลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ และปอดอักเสบตามมา รองลงเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง 

จากสถิติผู้ป่วย RSV ของสหรัฐอเมริกา ในแต่ละปี พบว่า การแพร่ระบาดมักจะเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก โดยเฉลี่ยมากถึง 8 หมื่นคน และในผู้สูงอายุที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 1.6 แสนคนต่อปี โยในจำนวนดังกล่าว RSV ยังได้คร่าชีวิตเด็กไปมากถึง 300 คน และผู้สูงอายุอีก 1 หมื่นคนต่อปี

ที่น่าสนใจกว่านั้นในกรณีของสหรัฐฯ ยังพบอีกว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา การระบาดของ RSV เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการระบาดที่ “เร็วขึ้น” กว่าช่วงเวลาปกติ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ย  รวมถึงยังพบผู้ป่วย RSV ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า

แน่นอนว่าศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ (CDC) ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้อนุมัติวัคซีนป้องกัน RSV ชนิดที่สามารถให้กับเด็กและผู้สูงอายุ โดยถือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐมีวัคซีนรองรับกลุ่มเป้าหมายทุกคน  

  สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยในปี 2566 นี้ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566 ว่า ข้อมูลการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัส RSV ในผู้ป่วยกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (ILI) และกลุ่มอาการปอดบวมจากโรงพยาบาลเครือข่ายของ คร. ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ส.ค. 2566

พบว่า มีการส่งตรวจตัวอย่างทั้งหมดจำนวน 5,411 ตัวอย่าง พบเป็นตัวอย่างติดเชื้อ RSV จำนวน 732 ตัวอย่าง คิดเป็น 13.53% โดยพบมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี 52.23% รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 3-5 ปี 34.92% และกลุ่มอายุ 6-15 ปี 8.38% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 1.96%

นอกจากนี้ หากลงในละเอียดยังพบอีกว่าเด็กมักรับเชื้อจากการสัมผัสผู้ป่วยขณะที่ไปโรงเรียน ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก และยังสามารถแพร่เชื้อต่อให้กับคนในบ้านได้

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่ายังไม่มียารักษาโดยตรง ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ “การป้องกัน” โดย นพ.โสภณ เอี่ยมสิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้แนะนำว่าโรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการล้างมืออย่างถูกวิธีด้วยสบู่และน้ำสะอาดบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนมื้ออาหารและหลังเข้าห้องน้ำ และดูแลสุขอนามัย 

รวมถึงหลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น แต่หากจำเป็นควรสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ทำความสะอาดบ้านรวมทั้งของเล่นเด็กเป็นประจำ

ตลอดจนผู้ปกครองและครูในสถานศึกษาควรหมั่นสังเกตอาการติดเชื้อทางเดินหายใจ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี อย่างใกล้ชิดทุกวัน แต่หากพบเด็กมีอาการป่วย ควรแยกออกจากเด็กปกติเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ และพาไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป