ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทำความเข้าใจใหม่กันเสียหน่อย 

‘การผ่าคลอด’ ไม่ใช่เรื่องของความสวยความงาม (รูฟิต) หรือความพึงพอใจเสมอไป ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้เตือนออกมาเสียงดังๆ แล้วว่า ‘อันตราย’ มาก (กว่า) เมื่อเทียบกับการคลอดตามธรรมชาติ (ช่องคลอด)

งานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของ WHO ที่เก็บรวบรวมข้อมูลจาก 9 ประเทศในเอเชีย พบว่า การผ่าคลอด สร้างความเสี่ยง-อันตราย ต่อทารกและมารดา มากกว่าการคลอดตามธรรมชาติ มากถึง 2-3 เท่า

ว่าด้วยความเป็นแม่และการคลอด เพศหญิงจึงมีความเสี่ยงด้านสุขภาพมากกว่าเพศชาย และหากเทียบเคียง 2 วิธีการคลอด ระหว่างการคลอดทางช่องคลอด กับการคลอดด้วยการผ่าตัด พบว่าวิธีหลัง อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

WHO จึงส่งเสียงซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงทั่วโลกว่า ‘ช่วยลดปริมาณการผ่าคลอด’ หน่อยเถอะ ซึ่งจนถึงขณะนี้ดูเหมือนว่าก็ไม่ได้ผลสักเท่าใดนัก

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย พบว่า อัตราการผ่าคลอดในสถานพยาบาลของรัฐในปัจจุบัน อยู่ในเกณฑ์​สูงประมาณ 30-50% และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากอันตรายแล้ว การผ่าคลอดยังนำไปสู่ค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูง และสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุ

บรรทัดถัดจากนี้คือ FACT จากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจน และ The Coverage อยากชักชวนทุกท่านทำความเข้าใจในเรื่องนี้กันใหม่

จากสาระสำคัญในประกาศราชวิทยาลัยฯ ซึ่งเป็นประกาศจุดยืน เรื่อง ‘การผ่าตัดคลอด (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2556)’ ซึ่งลงนามโดย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย จำแนกออกมาเป็น 8 ประเด็นสำคัญ

1. การผ่าตัดคลอด ควรทำในรายที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ คือเมื่อทารกไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้อย่างปลอดภัย หรือมารดามีภาวะแทรกซ้อนขั้นรุนแรงที่จะทำให้การคลอดทางช่องคลอดมีความเสี่ยง

2. ประชาชนควรทราบว่า การผ่าตัดคลอดมีความเสี่ยงต่อทั้งมารดาและทารกมากกว่าการคลอดทางช่องคลอด ซึ่งอาจจะเป็นผลที่เกิดจากการผ่าตัดหรือการให้ยาระงับความรู้สึก

3. ก่อนการผ่าตัดคลอด สตรีตั้งครรภ์ทุกรายควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเหมาะสมเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงของการผ่าตัดคลอดจากบุคลากรทางการแพทย์จนเข้าใจดี และลงนามยินยอมเข้ารับการผ่าตัด

4. การผ่าตัดคลอดตามคำร้องขอของมารดา (maternal request) เป็นการผ่าตัดคลอดที่เกิดจากความต้องการของสตรีตั้งครรภ์หรือญาติ โดยไม่มีข้อบ่งขี้ทางการแพทย์ สูตินรีแพทย์ควรสอบถามเหตุผล รับฟังความต้องการ อภิปรายความเสี่ยงและประโยชน์ของการผ่าตัดคลอดให้สตรีตั้งครรภ์รับทราบจนเข้าใจดีแล้ว หากยังยืนยันที่จะทำผ่าตัดคลอด ให้ลงนามในเอกสารแสดงความจำนงและใบยินยอมรับการผ่าตัด กรณีที่สูตินรีแพทย์ไม่เห็นด้วยที่จะทำผ่าตัดคลอด ให้แนะนำหรือส่งต่อสตรีตั้งครรภ์ไปพบสูตินรีแพทย์ท่านอื่น

5. การผ่าตัดคลอดแบบวางแผนล่วงหน้า (scheduled elective cesarean section) เป็นการทำผ่าตัดที่มีการเตรียมการและระบุวัน เวลาไว้ชัดเจน แนะนำให้ทำผ่าตัดที่อายุครรภ์ตั้งแต่ 39 สัปดาห์เป็นต้นไป

6. การที่แพทย์แนะนำหรือชักจูงให้สตรีตั้งครรภ์มาผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดถือเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรมทางการแพทย์

7. อัตราการผ่าตัดคลอดที่เหมาะสมของแต่ละสถานพยาบาลอาจแตกต่างกัน ขึ้นกับบริบทและสถานการณ์ที่รับผิดชอบ

8. สถานพยาบาล หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้องควรเก็บข้อมูลการคลอดแบบ Robson classification เพื่อประโยชน์ในการประเมินและติดตามข้อมูลสำหรับการวางแผนการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานเพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น