ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ดกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข เขต 4 สระบุรี เห็นชอบ 3 มาตรการป้องกันหญิงตั้งครรภ์คลอดก่อนกำหนด ส่งเสริมให้แม่-ลูกมีสุขภาพที่ดี พร้อมทั้งเสนอให้การวัดความยาวปากมดลูกและให้ยา Hormone เป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ในระบบหลักประกันสุขภาพ


สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี ประชุมคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข (อคม.) เขต 4 สระบุรี ครั้งที่ 4/2566  โดยมีนพ.จรัญ บุญฤทธิการ ประธานอนุกรรมการอคม.เขต 4ฯ พร้อมด้วย นพ.สาธิต ทิมขำ ผู้อำนวยการสปสช.เขต 4 พร้อมด้วยอคม.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา 

นพ.สาธิต ทิมขำ ผู้อำนวยการสปสช.เขต 4 สระบุรี เสนอต่อที่ประชุมถึงผลการดำเนินการบริการป้องกันการคลอดก่อนกำหนดในหญิงตั้งครรภ์ พื้นที่เขตสุขภาพที่ 4 สระบุรี ซึ่งพบว่าในปี 2566 มาถึงปัจจุบัน มีหญิงตั้งครรภ์จำนวน 2,159 ราย คลอดแล้วจำนวน 1,945 ราย คลอดครบกำหนดจำนวน 1,859 ราย คิดเป็นร้อยละ 95.58 ขณะที่มีเพียงร้อยละ 3.80 เป็นหญิงตั้งครรภ์ที่คลอดก่อนกำหนด 
    
อีกทั้ง ใน 8 จังหวัดที่รับผิดชอบของสปสช.เขต 4 สระบุรี พบว่าจ.นนทบุรี มีหญิงตั้งครรภ์คลอดก่อนกำหนดมากที่สุด จำนวน 47 ราย 
    
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมอคม.เขต 4 สระบุรี เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการคลอดก่อนกำหนดผ่าน 3 มาตราการ คือ 1. ปัญหาฝากครรภ์ล่าช้า 2. การค้นหาหญิงตั้งครรภ์และดูแลหญิงตั้งครรภ์ในชุมชน/โรงงาน และ 3. วัดความยาวปากมดลูกและให้ยา Hormone ในการป้องกันการคลอดก่อนกำหนดอย่างต่อเนื่อง  
    
ทั้งนี้ ในแนวทางการขับเคลื่อน ที่ประชุมอคม. เห็นด้วยในการกำหนดนโยบายการฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ ให้บรรจุในแผนยุทธศาสตร์ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั้ง 8 จังหวัดในพื้นที่เขต 4 และเสนอให้สปสช. เพิ่มบริการวัดความยาวปากมดลูกและให้ยา Hormone เป็นสิทธิประโยชน์ใหม่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) 

4
    
รวมไปถึง ให้มีการบูรณาการทำงานกับอีก 7 กระทรวง เพื่อค้นหาหญิงตั้งครรภ์เชิงรุกโดยใช้รูปแบบมินิแบโมเดลเพื่อแก้ไขปัญหาลางานไม่ได้ และให้สร้างการรับรู้ให้กับสังคม โดยเน้นสื่อออนไลน์เพื่อรณรงค์ให้เกิดการฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด 
    
ที่ประชุมอคม. เขต 4 สระบุรี ยังรับทราบถึงผลการดำเนินการของศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองในพื้นที่ โดยพบว่า มีการขับเคลื่อนช่วยเหลือผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง รวมถึงจัดการเรื่องร้องเรียนตาม ม.57,59 กรณีถูกเรียกเก็บเงิน (Extra Billing)  และม.41 กรณีที่ได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ 

นอกจากนี้ ยังมีการรายงานผลการดำเนินการร้านยาชุมชนอบอุ่น การให้บริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การติดตามคุณภาพการให้บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และโรคเรื้อรัง รวมไปถึงผลลัพธ์บริการนโยบายยกระดับบัตรทองในพื้นที่เขต 4 สระบุรี คือ OP Anywhere และ CA Anywhere เป็นต้น