ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ก่อนหน้านี้ไม่นาน มีประเด็นเดือดเกิดขึ้นในโลกทวิตเตอร์ เกี่ยวข้องกับ ‘สิทธิการลาคลอด’ 

มีความเห็นแตกออกเป็นสองฝ่ายเกี่ยวกับเรื่องการเพิ่ม ‘วันลาคลอด’ เป็น 180 วัน จากเดิมที่ให้สิทธิไว้ 98 วัน

วันลาคลอดที่มีโอกาสจะได้รับการพิจารณาปรับเพิ่มขึ้นนั้น สอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และ UNICEF แนะนำว่า ทารกควรได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด 

แน่นอน เรื่องนี้มีผู้คัดค้าน ส่วนใหญ่มาจากปีกของ ‘นายจ้าง’

ในฐานะเจ้าของธุรกิจ เขาเหล่านั้นกังวลว่าการที่พนักงานลาคลอด 6 เดือนจะทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น 

ขณะเดียวกัน มีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า นโยบายนี้จะทำให้การจ้างงานผู้หญิงจะลดลง

กาย-ใจ เปลี่ยนแปลง ร้ายแรงถึงซึมเศร้า

เมื่อไม่นานมานี้ “The Coverage” ได้พูดคุยกับ ผศ.พญ.ชุษณา เพชรพิเชฐเชียร สูตินรีแพทย์ สาขาวิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถึงสิ่งที่ผู้หญิงจะต้องเผชิญ เมื่อก้าวเท้าเข้าสู่บทบาทของการเป็นแม่

ผศ.พญ.ชุษณา เล่าว่า ปกติแล้ว หลังจากผู้หญิงคลอดบุตรจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย อาทิ อาการบาดเจ็บหลังคลอดจากแผลผ่าตัด อาการปวดเมื่อยตัว-ปวดหลังจากการอุ้มท้อง ซึ่งกว่าบาดแผลจะสมานตัว ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติจะใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ 

ทางด้านสภาพทางจิตใจหลังคลอด เมื่อคุณแม่มีรูปร่างเปลี่ยนไปก็จะทำให้เกิดความกังวล มีความมั่นใจในตัวเองลดลง และมักจะกังวลว่า ตนเองอาจจะดูอ้วน มีหน้าท้องแตกลาย ไม่สวยเหมือนเดิม ฯลฯ 

นี่ยังไม่รวมถึงเรื่องของการอดหลับอดนอน-เหนื่อยล้ากับการเลี้ยงลูก ซึ่งอาจนำไปสู่สภาวะเครียด และอาจจะรุนแรงจนกลายเป็นปัญหาซึมเศร้าหลังคลอดได้

นอกจากนี้ ที่สำคัญก็คือการที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับบทบาทใหม่ของการเป็น ‘แม่’ ยิ่งถ้าหากเป็นลูกคนแรกก็จะต้องการปรับตัวเยอะ และต้องพบเจออะไรหลายๆ อย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน เช่น การให้นมลูก การที่ต้องอดนอนตอนกลางคืน สิ่งเหล่าจะสามารถเป็นตัวกระตุ้นให้คุณแม่เกิดความเครียดได้

“เราอาจจะเคยเห็นที่เป็นข่าวว่า มีคุณแม่ที่ฆ่าตัวตายหลังคลอด หรือฆ่าตัวตายไปพร้อมกับลูกซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายที่พอเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นสังคมก็จะตื่นตัวกันชั่วครู่ แต่จริงๆ แล้วภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นภาวะที่เจอได้ค่อนข้างบ่อย แต่ความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักถึงภาวะนี้ในประเทศไทยยังคงมีไม่มากนัก จึงทำให้ผู้หญิงหลายคนที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมตามมา” ผศ.พญ.ชุษณา กล่าว

สิทธิลาคลอดเดิม 98 วัน ไม่เพียงพอต่อการรักษาใจ

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ผลกระทบหลังคลอดต่อผู้หญิงพุ่งตรงไปยัง 2 ส่วน นั่นคือร่างกาย และจิตใจ

หากนับเฉพาะการพักฟื้นร่างกาย ระยะเวลา 98 วัน เพียงพอต่อการทำให้ร่างกายหลังคลอดกลับมาเป็นปกติได้ และยังสามารถกลับไปทำงานได้ใกล้เคียงกับตอนที่ยังไม่ตั้งครรภ์ นั่นเพราะร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ เพื่อที่จะทำให้มดลูก-ระบบไหลเวียนเลือดต่างๆ กลับเข้าที่เข้าทาง

ส่วนด้านจิตใจ มีประเด็นที่สัมพันธ์กันหลายประเด็น ทั้งเชิงความสัมพันธ์ บทบาทการเป็นแม่

1

ผศ.พญ.ชุษณา อธิบายว่า ช่วงหลังคลอดใหม่ๆ ทารกยังต้องดื่มนมคุณแม่ไปจนถึงช่วงเวลา 6 เดือนแรก เพราะนมแม่เป็นสารอาหารหลักสำหรับทารก ฉะนั้นในช่วง 6 เดือนแรกจึงมีความจำเป็นที่เด็กจะต้องได้อยู่กับคุณแม่ 

การที่ลาได้แค่ 98 วัน ก็จะมีประเด็นว่าเมื่อคุณแม่ต้องกลับไปทำงาน บางรายต้องแยกกับลูก หรือส่งลูกให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง ส่วนหนึ่งมีผลต่อการให้นมแม่ที่ขาดช่วง ต่อให้ปัจจุบันจะมีเครื่องปั๊มนม แต่ก็อาจจะเกิดข้อจำกัดของการปั๊มนมในที่ทำงาน เพราะบริษัทหลายๆ ที่ก็อาจจะไม่ได้มีห้องหรือสถานที่สำหรับปั๊มนม และไม่สะดวกที่จะให้คุณแม่ลาไปปั๊มนมได้ทุกๆ 2 ชั่วโมง 

สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างความเครียดกับคุณแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณแม่ไม่ได้ปั๊มนมตามเวลาการผลิตน้ำนมของร่างกาย ความสามารถในการผลิตน้ำนมก็จะลดลง สุดท้ายก็จะจบลงที่ว่า ไม่สามารถให้นมแม่ต่อได้จนครบ 6 เดือนได้

ทั้งนี้ การให้นมแม่ระยะยาวจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของคุณแม่ดีกว่าเพราะมีข้อมูลว่า คุณแม่ที่ให้นมลูกได้นานๆ จะลดความเสี่ยงของโรค เช่น ช่วยให้น้ำหนักของคุณแม่กลับสู่น้ำหนักปกติ หรือว่าน้ำหนักลดลงได้เร็วขึ้นจะไม่ทำให้คุณแม่เป็นโรคอ้วนในระยะยาว นอกจากนี้การให้นมแม่ได้นานๆ ก็จะลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพคุณแม่อย่างมาก

“ส่วนตัวเห็นด้วยค่อนข้างมากกับนโยบายลาคลอด 180 วัน คิดว่ามันเป็นแนวโน้มที่ดี ถ้าเกิดว่าสามารถทำได้จริงก็อย่างที่พูดมาทั้งหมด ทั้งในเรื่องของสุขภาพของเด็กเอง ทั้งเรื่องของสุขภาพร่างกายจิตใจของคุณแม่ การที่เราได้เพิ่มจาก 98 วันไปเป็น 180 วัน ส่วนตัวก็คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ในเรื่องของสุขอนามัยแม่และเด็กของประเทศเรา” ผศ.พญ.ชุษณา กล่าว

นมแม่ ความมหัศจรรย์อันเร้นลับ

ผศ.พญ.อรุณวรรณ ทองขาว หน่วยกุมารเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอก สาขากุมารเวชศาสตร์
โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้เปิดเผยกับ ‘The Coverage’ ว่า ความแตกต่างของการที่ได้ดื่มนมแม่-นมผง ช่วง 6 เดือนแรกจะส่งผลต่อเด็กแตกต่างกันได้อย่างชัดเจน 

ทั้งนี้ เนื่องจากนมแม่จะมีสารอาหารที่มีความเหมาะสม ทั้งชนิด ปริมาณ และอัตราส่วนของสารอาหารที่ทารกต้องการจะได้รับ และจะมีลักษณะที่สามารถปรับเปลี่ยนอัตราส่วนให้เหมาะสมกับความต้องการของทารกในแต่ละช่วงอายุได้ สิ่งใดที่ทารกอายุนั้นต้องการมากก็จะปรับให้สูงขึ้น เด็กที่ได้กินนมแม่เต็มที่ก็จะมีการเจริญเติบโตที่ดี สมวัย ตามเกณฑ์ จะไม่มีการอ้วนจนเป็นโรคจากเด็กที่กินนมแม่ 

สิ่งสำคัญคือ เด็กจะมีการทำงานของทางเดินอาหารที่ดี การได้ดื่มนมแม่จะทำให้ไม่เป็นโรคท้องผูก เพราะว่าในนมแม่จะมีสารอาหารที่ย่อยและดูดซึมได้ง่าย ซึ่งปริมาณอาหารเหล่านี้จะมีเพียงพอต่อความต้องการ ทำให้เด็กสามารถกินนมแม่อย่างเดียวได้จนครบ 6 เดือน

ส่วนนมผสม หรือนมผงที่ใช้กัน แม้ว่าจะมีการพยายามปรับให้สารอาหารใกล้เคียงกับนมแม่ แต่ก็ยังเป็นองค์ประกอบที่ย่อยยากกว่าและดูดซึมได้ไม่ดีเท่านมแม่ ทำให้เด็กอาจจะเกิดอาการท้องอืดหรือท้องผูกขึ้นได้ง่าย 

“เราเคยเจอเด็กที่ยังอายุหลักเดือนท้องผูกจากนมผสมก้อนใหญ่จนทำให้เกิดเป็นแผลเลือดไหล เพราะฉะนั้นเราจึงมักเห็นได้ว่า กว่าที่คุณแม่จะได้สูตรนมที่เหมาะสมกับลูกอาจจะต้องมีการเปลี่ยนสูตรลองผิดลองถูกกับลูกอยู่หลายครั้ง” ผศ.พญ.อรุณวรรณ กล่าว

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญมากๆ เลยก็คือ นมแม่สามารถลดอัตราการตายของทารกได้ แล้วก็มีลักษณะที่ยิ่งดื่มนาน ยิ่งดื่มมาก ยิ่งป้องกันโรคได้เพิ่ม เช่น การดื่มนาน 1-2 เดือนแรกก็จะสามารถลดอัตราการตายแรกเกิด ลดการติดเชื้อทางเดินอาหารได้ 

หรือถ้าหากได้กินนานเกิน 6 เดือนขึ้นไปจะช่วยป้องกันภาวะปอดอักเสบรุนแรง ไข้สมองอักเสบ หรือลดภาวะเบาหวานเมื่อโตขึ้นในเด็กได้ ที่สำคัญคือมีข้อมูลว่าสามารถลดอัตราการเป็นมะเร็งบางชนิดในเด็กได้ด้วย 

ดังนั้นองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การสหประชาชาติ (UN) จึงมีคำแนะนำให้ทารกทั่วโลกได้รับนมแม่อย่างเดียวจนถึง 6 เดือน และหลังจากนั้นให้ดื่มนมแม่คู่กับอาหารเสริมจนถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น 

ผศ.พญ.อรุณวรรณ กล่าวต่อไปว่า นมแม่จะมีส่วนของภูมิคุ้มกันโรคที่ดี เพราะมีการศึกษาที่ทำให้เห็นข้อมูลชัดเจนได้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ในนมแม่จะมีจุลินทรีย์คุณภาพจำนวนมากที่จะส่งต่อให้กับลูกในทุกครั้งที่ให้นม ซึ่งจะมีความแตกต่างทั้งชนิดและปริมาณในแม่แต่ละคนด้วย 

นอกจากนั้นจะมีเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ ที่มีภูมิคุ้มกัน เป็นเหมือนกับวัคซีนให้กับลูก โดยที่ภูมิคุ้มกันตรงนี้จะปรับเปลี่ยนปริมาณความต้องการในแต่ละช่วงอายุของลูก แล้วก็จะปรับเปลี่ยนไปตามการระบาดของโรคในภูมิลำเนาของแม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ‘ยาก’ ในการที่จะทำให้ได้ภูมิคุ้มกันแบบนี้ในนมผง 

1

180 วันแรก โอกาสทองของสายสัมพันธ์

ไม่เพียงแต่ความมหัศจรรย์ของน้ำนมแม่ที่เต็มไปด้วยคุณประโยชน์ และไม่มีสิ่งอื่นเสมอได้แล้ว ตัวเลขระยะเวลา 180 วันแรก นับจากคลอด ก็มีความลับที่น่าพิศวง

ผศ.พญ.อรุณวรรณ อธิบายว่า การที่ได้อยู่กับพ่อ-แม่ ในช่วง 6 เดือนแรกจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กเป็นอย่างมาก โดยหลักๆ คือการได้กินนมแม่ ร่วมกับการที่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการได้อย่างเต็มที่ 

การที่เด็กได้กินนมแม่จะทำให้มีพัฒนาการที่ดี ไอคิวดี ซึ่งการที่ได้ไอคิวดีได้มาจากองค์ประกอบในนมแม่ ซึ่งองค์ประกอบในนมแม่จะมีสารกระตุ้นการเจริญเติบโต มีไขมันและน้ำตาลตามอัตราส่วนที่ทารกต้องการ และเป็นอาหารสมองที่สำคัญต่อทารกจึงทำให้เขามีการเจริญเติบโตของสมองที่ดี 

นอกจากนี้ การที่ทารกได้อยู่กับแม่จะส่งผลโดยตรงต่อความแนบแน่นในสายสัมพันธ์ เวลาที่แม่อุ้มเข้าเต้าให้นม เด็กจะได้กลิ่น ซึ่งแม่ทานอะไรกลิ่นก็จะส่งผ่านน้ำนมด้วย ทำให้เด็กได้ลอง เรียนรู้ได้รับกลิ่น ได้ยินเสียงหัวใจคุณแม่เต้น ได้มองหน้า และได้ยินเสียงจากการพูดคุยของคุณแม่ ซึ่งภายในขวบปีแรกเด็กจะมีสายตาที่สั้น ซึ่งระยะที่แม่อุ้มเด็กดื่มนมจะเป็นระยะที่เด็กสามารถมองเห็นหน้าคุณแม่ได้อย่างชัดเจน 

“ทุกสัมผัสที่แม่สัมผัสกับเขาจะเป็นการกระตุ้นพัฒนา ซึ่งก็หมายถึงทุกครั้งที่คุณแม่ให้นมด้วย” ผศ.พญ.อรุณวรรณ กล่าว

เห็นได้ว่าการสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุด มีรากฐานที่เข้มแข็งจาก 180 วันแรก หากแต่ปัจจุบันสิทธิการลาคลอดในประเทศไทย ให้เพียง 98 วันเท่านั้น ตรงนี้ชัดเจนว่า ไม่เพียงพอที่จะสร้างเสริมสุขภาพและพัฒนาการทางด้านต่างๆ ของเด็ก

มีข้อมูลชัดเจนทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ทารกไม่ได้รับนมแม่อย่างเดียวได้จนถึง 6 เดือนแรก ตามที่ต้องการ หลักๆ คือการที่แม่ต้องกลับไปทำงาน

งานวิจัยชี้ชัดว่า หลังจากที่แม่กลับไปทำงานแล้วจะมีอัตราการหยุดนม หรือมีปริมาณนมที่น้อยกว่าที่เขาต้องการ เนื่องจากเมื่อกลับไปทำงานก็จะเจอกับอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของการเก็บน้ำนม น้ำนมแม่ในระยะหลังคลอด 2 สัปดาห์ ปริมาณการสร้างจะขึ้นอยู่กับความถี่ในการระบายน้ำนม ออกจากเต้าทุกๆ 2-3 ชั่วโมงเป็นหลัก หากระบายน้ำนมห่างกว่านั้น ปริมาณการสร้างน้ำนมจะลดลง จนกระทั่งหยุดไปในที่สุด 

ฉะนั้น เมื่อคุณแม่ต้องกลับมาทำงานที่ 3 เดือนก็จะประสบปัญหา ไม่มีช่วงเวลาที่จะปั๊มน้ำนมได้ ตามที่ต้องการ สถานที่ไม่เอื้ออำนวย หรืออุปกรณ์ในการบีบเก็บน้ำนมที่บีบแล้วแต่ไม่มีที่แช่ รวมถึงการให้ความเข้าใจ ความร่วมมือจากผู้ร่วมงาน และหัวหน้างาน 

ทั้งหมดนี้ ทำให้คุณแม่หลายคนมีปริมาณน้ำนมที่ลดลง และก็ต้องหยุดให้น้ำนมเร็วกว่าที่ตั้งใจเอาไว้ เด็กก็จะเสียโอกาสที่จะได้รับภูมิต้านทานและสิ่งดีๆ ทั้งหมดที่กล่าวมาในข้างต้น 

 

พ่อช่วยเลี้ยงลูก คือการซัปพอร์ตหัวใจแม่

ในช่วง 6 เดือนแรกจะเป็นช่วงที่เด็กเรียนรู้ที่จะฝึกการได้ยินเสียง จำกลิ่นจำหน้าพ่อแม่ และคนใกล้ชิด เด็กที่มีพัฒนาการดีจะสามารถจดจำหน้าคนใกล้ชิดได้ในอายุ 4 เดือน จะจำเก่งจนรู้สึกได้ว่าคนนี้ไม่ใช่คนใกล้ชิด และมีอาการกลัวคนแปลกหน้าช่วงอายุ 6 เดือน 

พัฒนาการของเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 2 ปีเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเป็นช่วงที่เขากำลังสร้างความไว้วางใจกับโลกใบนี้ ซึ่งไม่สามารถเติมเต็มได้ดีหลังจากช่วงอายุนี้ไปแล้ว เพราะฉะนั้นการที่เขาได้ใกล้ชิดกับพ่อ-แม่ได้อย่างเต็มที่ ได้รับการอุ้มโอบกอดให้นมจากแม่ทุกครั้งที่เขาหิวจะช่วยสร้างพัฒนาการทางจิตใจในส่วนนี้ให้สมบูรณ์ได้

มาถึงตอนนี้ ยังไม่มีการกล่าวถึงบทบาทของพ่อ หรือผู้ชาย ในฐานะหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว

หากพูดถึงความสัมพันธ์ในช่วง 180 วันแรก ‘ผศ.พญ.ชุษณา’ อธิบายว่า การที่คุณพ่อตั้งใจที่จะลามาช่วยเลี้ยงลูก คุณแม่ก็จะได้รับผลการซัปพอร์ตทางด้านจิตใจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สถาบันครอบครัวมักจะเป็นครอบครัวเดี่ยว ไม่ได้มีญาติคนอื่นๆ มาช่วยดูแล เพราะการเลี้ยงลูกโดยที่ไม่มีสามีมาช่วยจะเป็นภาระที่หนักสำหรับคุณแม่ เพราะแทบจะออกห่างจากลูกไม่ได้ ทำให้ไม่มีเวลาส่วนตัว การที่มีคนมาช่วยดูแลลูกจะมีผลอย่างมากต่อสภาพจิตใจของคุณแม่ สามารถลดความเครียดของคุณแม่ได้เป็นอย่างดี 

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล บอกกับ “The coverage” ว่า ตามหลักอนามัยโลก ผู้หญิงควรจะได้สิทธิลาพัก 1 สัปดาห์ก่อนคลอด แน่นอนว่าเพื่อสุขภาพของคุณแม่ควรได้รับการพักเตรียมตัวก่อนการคลอดด้วย หากปล่อยให้ลาตั้งแต่วันที่คลอดก็จะเป็นการฉุกละหุกเกินไป แต่เวลานี้ต้องรอให้มีรายละเอียดกฎหมายออกมาก่อน 

ตอนนี้ได้มีการเพิ่มการลาคลอดมาอีก 8 วันทำให้ปัจจุบันประเทศไทยผู้หญิงสามารถลาคลอดได้ 98 วัน ให้ได้มีการเตรียมตัวคลอดอีกเล็กน้อย 

ฉะนั้นการที่นับการลาคลอดตั้งแต่วันที่คลอดเลยจะทำให้คุณแม่ไม่มีเวลาเตรียมตัว จึงอยากให้มีการคุ้มครองสุขภาพก่อนคลอดด้วย เพราะผู้หญิงบางคนจะมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพครรภ์ ซึ่งหากจะกำหนด 180 วันได้สำเร็จต้องมีการแก้กฎหมายแรงงานเพิ่ม 

2

สังคมติดหล่มความคิดชายเป็นใหญ่

สิ่งที่ทำให้ประเทศไทยไม่ไปถึงนโยบายลาคลอด 180 วันเสียที หากเราย้อนกลับไปในอดีต ผู้หญิงสามารถลาได้แค่ 1 เดือนจึงมีการต่อสู้กันมา 3-4 ปีกว่าจะได้ 98 วัน เนื่องจากคนในสังคมไทยมองว่า การลาคลอดเป็นเรื่องของส่วนตัวผู้หญิง 

จะเด็จ บอกว่า นี่เกี่ยวเนื่องกับความคิดของสังคม ‘ชายเป็นใหญ่’ ที่มองว่า ถ้าผู้หญิงมีลูกก็ต้องดูแลลูกด้วยตัวเอง แต่ไม่ได้มองว่า นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ในสังคม แต่มองว่าเป็นหน้าที่ของผู้หญิง 

นั่นทำให้นายจ้างจึงมองไม่เห็นถึงความสำคัญที่จะให้วันลาคลอดเพิ่มขึ้น ซึ่งความคิดแบบนี้ยังมีอิทธิพลต่อคนในสังคม ทั้งตัวของผู้ที่ให้กำหนดนโยบายและนายจ้าง

ฉะนั้นเราก็จะเห็นว่า บริษัทส่วนมากที่อนุญาตให้ผู้หญิงลาคลอดได้ 180 วันจะเป็นบริษัทต่างชาติ เพราะในประเทศเขาอนุญาตให้ลาคลอดได้หลายเดือน 

การลาคลอดมักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องของผู้หญิงเป็นหลัก ซึ่ง ‘จะเด็จ’ บอกว่า ที่จริงแล้วจะให้ลาคลอดเฉพาะแค่ผู้หญิงเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ผู้ชายก็ควรลาไปเลี้ยงลูกได้เหมือนกัน เพราะภารกิจการเลี้ยงดูลูกไม่ใช่หน้าที่ของผู้หญิงอย่างเดียว แต่ไม่ว่าเพศไหนก็ควรที่จะต้องช่วยกันเลี้ยงดู เพราะการผลักให้กลายเป็นหน้าที่แค่เพศหญิง คนในสังคมก็จะมองเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ซึ่งทัศนคตินี้เป็นเรื่องใหญ่ในสังคม 

อย่างไรก็ตาม เรื่องของทัศนคติชายเป็นใหญ่ที่ถูกปลูกฝังอย่างเห็นได้ชัดภายในครอบครัวให้เรื่องของการดูแลเด็ก ดูแลครอบครัวเป็นหน้าที่ของฝ่ายหญิง รวมถึงระบบการศึกษาที่มักจะนำเสนอความเป็นแม่ ภรรยามีหน้าที่ดูแลลูก แทนที่จะส่งเสริมให้กลายเป็นเรื่องของสังคมในการช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่ง 30 ปีที่ผ่านมาก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงเน้นให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายหญิงอย่างเดียว 

“ในสังคมไทยจะเห็นได้ว่า บริษัทสามารถอนุญาตให้ผู้ชายสามารถลาทหาร ลาบวชได้เพราะเนื่องจากมองว่าเป็นการทดแทนบุญคุณพ่อ-แม่ ซึ่งผู้หญิงบวชไม่ได้ ไม่สามารถพาพ่อ-แม่ขึ้นสวรรค์ได้ ดังนั้นผู้ชายจึงมีบทบาทมากกว่าสามารถลางานได้โดยไม่เสียวันลา” จะเด็จ กล่าว

ทั้งนี้ หากเราจะพูดถึงเรื่อง ทางออก แน่นอนว่าก็ต้องมีการเรียกร้อง และพรรคการเมืองมาสนับสนุนนโยบาย และคิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้รอบด้าน โดยเฉพาะกับบรรดานายจ้าง และกฎหมายแรงงาน แต่สิ่งที่อยากจะให้มีการกำหนดอย่างชัดเจนคือ ให้สิทธิผู้หญิงลาคลอด 180 วัน ส่วนผู้ชายอาจจะลาไปเลี้ยงลูกได้ 1-2 เดือนเหมือนมาตรฐานทั่วๆ ไปเพิ่มเข้ามา ไม่อยากจะให้ปะปนกันระหว่างวันลาคลอดของผู้หญิง และวันลาเลี้ยงลูกของผู้ชาย หรือเพศสภาพอื่นๆ ที่ลาไปเลี้ยงเด็ก 

“เป็นเรื่องที่ดีที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายมาผลักดันเรื่องลาคลอด และต้องผลักดันอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่อยากจะรวมวันลาทั้งสองฝ่าย เพราะผู้หญิงควรได้วันลาคลอดอย่างเต็มที่ ส่วนผู้ชายก็ควรสนับสนุนให้ลาไปเลี้ยงลูกเพิ่มขึ้น” นายจะเด็จ กล่าว

ส่องนโยบายพรรคก้าวไกล : สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้

ถ้าไม่มีอุบัติเหตุหรือสิ่งที่มองไม่เห็น มีความน่าจะเป็นที่ ‘พรรคก้าวไกล’ จะได้เป็นผู้นำรัฐบาล ซึ่งหากสแกนนโยบายของพรรคก้าวไกล จะพบว่ามีการพูดถึงขยายสิทธิลาคลอดจากปัจจุบัน (98 วัน) เพิ่มเป็น 180 วัน

นั่นคือ สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้

พร้อมกับผลักดันแรงงานในระบบประกันสังคมที่มีผู้ว่าจ้างให้ได้รับค่าตอบแทนทั้ง 180 วัน โดยจะเป็นการร่วมกันรับผิดชอบระหว่างผู้ว่าจ้างและกองทุนประกันสังคม

ส่วนของแรงงานที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม และถูกนำเข้ามาเป็นแรงงานที่ไม่มีผู้ว่าจ้างในระบบประกันสังคมถ้วนหน้า จะได้รับเงินสนับสนุนในการลาคลอด 5,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 6 เดือน
และพ่อ-แม่สามารถแบ่งวันลาได้ตามความสะดวก หรือใช้ร่วมกัน เช่น แม่ลา 5 เดือน พ่อใช้อีก 1 เดือน เพื่อช่วยแบ่งเบาการทำหน้าที่และร่วมกันดูแลลูกในช่วง 1 เดือนแรก

แล้วคุณล่ะเห็นด้วยกับนโยบายลาคลอด 180 ไหม ?