ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘หมอชลน่าน’ ชี้ ปัญหาจัดบริการ หลังถ่ายโอนฯ ‘รพ.สต.’ อยู่หลายสังกัด แก้ได้ด้วย ‘ซุปเปอร์บอร์ด’ ส่วนระบบข้อมูลกลาง ‘บัตร ปชช. รักษาได้ทุก รพ.’ แม้ดีอีเอสเป็นเจ้าภาพ แต่เบื้องต้น สธ. ใช้ของตนเอง


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยหลังการประชุมมอบนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2566 ว่า ข้อกังวลเรื่องการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปอยู่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย (มท.) จะมีปัญหาในการจัดบริการปฐมภูมิหรือไม่นั้น ต้องบอกว่า สธ. มองเห็นภาพปัญหาที่เกิดจากการมีหลายหน่วยงานที่เป็นต้นสังกัด รพ.สต. โดยเฉพาะในภาวะวิกฤต

ดังนั้น จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ (National Health Board) ขึ้นมา โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่จะมาดูเชิงนโยบาย ให้มีการผสมผสาน และบูรณาการกัน ในลักษณะหุ้นส่วนกัน นอกจากนี้ในวิธีปฏิบัติ แม้ว่า รพ.สต. สังกัดท้องถิ่น แต่การจัดบริการ ไม่ได้แยกว่าคนที่อยู่ในชุมชนจะเข้ารับบริการของท้องถิ่น หรือของ สธ. ไม่มีการเลือกแบบนั้น

เนื่องจาก สธ. มุ่งหวังอย่างยิ่งว่าหากทำระบบสำเร็จ ให้เกิดเป็นโรงพยาบาลที่สามารถเชื่อมโยงกันได้หมด จะเป็นการใช้บัตรประชาชนใบเดียวสามารถเข้ารับการดูแลรักษาได้ทุกที่ ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาในเชิงระบบได้ รวมถึงจะมีการพัฒนาคนขึ้นมารองรับ โดย สธ. มีสถาบันพระบรมราชนก (สบช.) ที่กำลังจะพัฒนาแพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่จะทำหน้าที่ในการให้บริการระดับปฐมภูมิในพื้นที่ให้ครอบคลุมและบรรลุตามเป้าหมายได้

ที่สำคัญที่สุด คือ เทคโนโลยี ถึงจะไม่มีแพทย์ไปประจำอยู่ในชุมชน แต่จะมีการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เชื่อมโยงเข้าไป โดยจะสร้างเป็นโรงพยาบาลเสมือนจริง (Virtual Hospital) ส่วนอุปสรรคอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับการถ่ายโอนฯ ทาง สธ. จะเข้าไปดู ไม่ให้เป็นปัญหาในการจัดบริการให้กับประชาชน

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ส่วนฐานข้อมูลกลางสำหรับรองรับนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาลสำหรับสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เจ้าภาพหลักจะเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกัน แต่โดยเบื้องต้นจะเป็นใช้ระบบจัดเก็บข้อมูลของทาง สธ. ก่อนที่ได้พัฒนามาเกือบ 2 ปี