ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เวทีเสวนาหัวข้อ “ทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค...ได้เต็มร้อย?” ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2566 ภายในกิจกรรมการสรุปผลรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระดับประเทศ ประจำปี 2566 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อันเป็นวาระสำคัญประจำปีเพื่อพัฒนาสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทองหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค) ของคนไทย

หนึ่งในประเด็นใหญ่ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาร่วมพูดคุยในปีนี้ คือเรื่องของสิทธิประโยชน์ “บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” หรือ Promotion and Prevention (P&P) ซึ่งเป็นหนึ่งตัวช่วยสำคัญในการลดภาระของระบบบริการสาธารณสุข ทำให้บริการนี้ถูกจัดเป็นสิทธิประโยชน์แก่ประชาชนคนไทยทุกสิทธิ ทุกคน

1

เริ่มต้นด้วยคำอธิบายจาก ศ.(วุฒิคุณ) นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ที่ปรึกษาคณบดีด้านนโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่าในอดีตผู้คนมักมองโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องธรรมชาติ แม้แต่กลุ่มโรคจากพฤติกรรมที่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ต้องพบเจอกันทุกคน กระทั่งเมื่อเราพบว่าโรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้ ดังอายุขัยเฉลี่ยของผู้คนที่ไม่เท่ากัน เนื่องด้วยวัฒนธรรมหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมือนกัน

นพ.วิวัฒน์ ระบุว่า จุดแตกต่างสำคัญของระบบสุขภาพ จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเก่งของการรักษาพยาบาล หากแต่เป็นความเก่งในการส่งเสริมป้องกันโรค ด้วย 2 องค์ประกอบที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกัน คือ การสร้างเสริมสุขภาพ (Promotion) ที่เปรียบเสมือนกับการสร้างบ้านให้แข็งแรง กับการป้องกันโรค (Prevention) ที่เหมือนการสร้างรั้วล้อมเพื่อไม่ให้มีภัยเข้าบ้าน จึงเรียกโดยรวมว่า P&P ซึ่งงานนี้จะมีสองด้าน ในด้านหนึ่งคือภาระหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดบริการแก่ประชาชน ขณะที่อีกด้านจะเป็นความรับผิดชอบของประชาชนในการทำให้ตนเองมีสุขภาพดี

“ถ้างาน P&P เข้มแข็ง คนก็จะป่วยน้อยลง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น หากเราทำให้คนไทยลดการบริโภคโซเดียมลงได้ จากค่าเฉลี่ยที่คนละ 4,000 มิลลิกรัม ลงมาเหลือเป็น 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน จำนวนของโรคภัยหรือผู้ที่จำเป็นจะต้องล้างไตก็จะลดลงไปได้มาก ช่วยประหยัดงบประมาณประเทศอย่างมหาศาล” เขาให้ภาพความสำคัญ

นพ.วิวัฒน์ มองว่า นับเป็นความน่าอิจฉาของคนไทยที่มีบริการ P&P เป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานให้กับทุกคน โดยปัจจุบันมีสิทธิประโยชน์รวม 111 รายการและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังไม่มีสิทธิเหล่านี้ให้กับประชาชน อย่างไรก็ตามแม้ประเทศไทยจะเห็นความสำคัญและทำสิทธินี้ให้ครอบคลุมถึงทุกคน แต่พบว่าคนส่วนใหญ่กลับไม่รู้ถึงสิทธิที่ตนมีและควรจะได้รับ เมื่อไม่รู้ จึงไม่ได้เข้าไปรับบริการ รวมถึงไม่ออกไปเรียกร้องเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง เช่นเดียวกับหน่วยบริการเองที่ไม่ได้ตระหนักถึงหน้าที่ให้บริการ P&P

สำหรับข้อเสนอของ นพ.วิวัฒน์ เพื่อทำให้บริการ P&P เกิดความครอบคลุมทุกคนได้จริง ประกอบด้วย 1. สร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบว่ามีสิทธิและไปเข้ารับบริการ 2. สร้างจิตสำนึกของบุคลากรการแพทย์ ที่ไม่มุ่งเฉพาะการรักษา แต่ต้องเน้นการสร้างเสริมป้องกันด้วย 3. ต้องอำนวยความสะดวกให้คนเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว 4. จัดระบบให้สามารถใช้สิทธิได้ทุกที่ ไม่จำกัดว่าจะต้องเข้ารับบริการในที่ใดเท่านั้น 5. จัดบริการเชิงรุกเข้าสู่ชุมชน

2

มุมมองในฐานะผู้ให้บริการ พญ.รัชฎาพร สีลา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองฮี จ.ร้อยเอ็ด ได้บอกเล่าถึงการดูแลอำเภอขนาดเล็กที่มีประชากรราว 2.6 หมื่นคน โดยทาง รพ.หนองฮี ได้ทำงานควบคู่ทั้งในแง่ของการรักษาพยาบาล และการส่งเสริมป้องกันโรค ซึ่งในส่วนของ P&P ทางโรงพยาบาลได้ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายกับหน่วยบริการปฐมภูมิอีก 6 แห่งในพื้นที่

ทั้งนี้ เธอเห็นด้วยว่าบริการ P&P เป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชากรไทยทุกคนจะต้องสามารถเข้าถึงได้ บนความรับผิดชอบของทั้งสองฝั่ง คือฝั่งหน่วยบริการที่จะให้บริการ กับฝั่งประชาชนที่จะต้องร่วมดูแลสุขภาพ มีการเชื่อมร้อยทั้งในแง่บริบทของสังคม การใช้เทคโนโลยีต่างๆ ขณะเดียวกันสิ่งสำคัญคือการเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพ พร้อมการสร้างความรู้เท่าทัน ให้ประชาชนได้เข้าใจและเข้าถึงข้อมูลได้ว่าตัวเขามีสิทธิอะไรบ้าง

“การทำงาน P&P อยากให้มีระบบข้อมูลที่เชื่อมโยงกลับมายังหน่วยบริการหลักได้ด้วยว่า คนไข้รายนั้นเขามีความเสี่ยงอะไร เคยได้รับการส่งเสริมป้องกันโรคด้านไหนไปแล้วบ้าง หรือยังขาดอะไรเพื่อให้หมอเข้ามาช่วยเสริมเติมเต็มในส่วนนั้นได้ ไม่ใช่ว่าคัดกรองแล้วก็กองเอาไว้แบบนั้น แต่อยากให้ถูกนำกลับมาช่วยลดความเสี่ยงทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับเขา” พญ.รัชฎาพร ให้ความเห็น

3

สอดคล้องกับ นายบัณฑิต ตั้งเจริญดี ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ จ.ปทุมธานี ที่เน้นย้ำว่า รูปแบบของงาน P&P ต่อไปคงจะไม่ได้มองเฉพาะหน้าที่การให้สิทธิกับประชาชนเท่านั้น หากแต่จะต้องทำให้ประชาชนรู้จักรักษาสิทธิของเขา และสนใจในการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคด้วย อย่างเช่นการทำให้สุขภาพดี ประชาชนก็ต้องตระหนักถึงหน้าที่ว่าจะต้องมีการออกกำลังกาย เพราะหากมองดูสังคมเมืองทุกวันนี้ คนสนใจแต่การทำงานอย่างเดียว สุดท้ายก็ต้องเอาเงินมารักษาตัวเอง

เขามองว่าการจะทำให้บริการ P&P ครอบคลุมคนไทยได้ครบทั้ง 100% นั้นอาจยังเป็นไปได้ยาก เนื่องด้วยประชาชนเองยังไม่มีจิตสำนึกในการดูแลสุขภาพที่มากเพียงพอ ฉะนั้นหากเพียงให้สิทธิไปอย่างเดียว แต่ประชาชนไม่ตระหนักว่าหน้าที่ของตนเองอย่างไร งาน P&P ย่อมไม่สำเร็จ ขณะนี้จึงเปรียบเสมือนกับเป็นทางคู่ขนานที่ต้องทำควบคู่กันไป โดยให้ประชาชนมีองค์ความรู้ว่าจะต้องทำอะไรไปพร้อมกับการให้สิทธิประโยชน์

3

ขณะที่ความเห็นของฟากฝั่งผู้รับบริการ นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย เชื่อว่าการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคจะเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ควรต้องให้อยู่ในมือของประชาชนที่เข้ามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพตัวเอง พร้อมร่วมจัดบริการสร้างเสริมป้องกันโรค ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายภาคประชาชน หรือกลุ่มผู้ป่วยต่างๆ

พร้อมกันนั้นเขายังได้ตั้งคำถามถึงกฎเกณฑ์ระเบียบต่างๆ ของหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งอาจไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับเป้าหมายของการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค เพราะยังมีข้อติดขัดที่เป็นอุปสรรค ซึ่งรอการปลดล็อคเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับ P&P เป็นไปได้อย่างราบรื่น สามารถใช้งบประมาณและออกแบบกิจกรรมที่สอดคล้องกับการทำงานได้

“อย่างช่วงโควิดที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาชนมีบทบาทอย่างมาก ในขณะที่ระบบบริการหลักกำลังหลังแอ่น โมเดลเหล่านี้เป็นบทเรียนสำคัญที่น่านำมาทบทวนและช่วยกันขยายต่อ ประเทศไทยเรามีต้นทุนสำคัญเยอะมาก มีกลุ่มผู้ป่วยต่างๆ ที่หากทำให้เขาเกิดความเข้มแข็งมากขึ้น จะเข้ามาเป็นส่วนช่วยหนุนเสริมให้บรรยากาศของการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคดีมากขึ้น” นายอภิวัฒน์ ให้ความเห็น

4

ไม่ต่างกันกับ น.ส.ชลดา บุญเกษม หน่วยรับเรื่องร้องเรียนตามมาตรา 50(5) จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มองว่า แม้หน่วยบริการสุขภาพจะมีการดำเนินงาน P&P มีการสำรวจ คัดกรองโรค รวมถึงเยี่ยมบ้านต่างๆ แต่ข้อมูลหรือจำนวนกลุ่มเป้าหมายก็อาจยังไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทั้งหมดทุกกลุ่ม ซึ่งภาคประชาชนเองจะสามารถเข้ามาช่วยเสริมเติมเต็มในส่วนนี้ได้

เธอยกตัวอย่างถึงการค้นหากลุ่มเป้าหมายหญิงตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งกลุ่มหญิงที่ทำงานในโรงงาน หรือที่ตั้งครรภ์แล้วปกปิด กลุ่มเหล่านี้ก็จะไม่เข้าสู่ระบบ และทำให้หน่วยบริการไม่สามารถรับรู้และเข้าไปส่งเสริมสุขภาพได้ หรือการป้องกันความเสี่ยงพลัดตกหกล้มในกลุ่มผู้สูงวัย แม้หน่วยบริการจะให้คำแนะนำไปแล้ว แต่ชุมชนก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเฝ้าระวัง

“ดังนั้นข้อเสนอถ้าจะให้บริการ P&P ยั่งยืน ควรมีการร่วมมือทั้งสามฝ่าย คือหน่วยบริการสาธารณสุข ท้องถิ่น และภาคประชาชน ที่ร่วมกันทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะบริบทของภาคประชาชนจะสามารถเข้าถึงชุมชนได้มากกว่า มีเครือข่ายอาสาสมัคร มีกลไกที่จะเข้าไปดูแล พูดคุย กับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้ ซึ่งการเข้าไปคุยหรือเยี่ยมบ้านเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องของสุขภาพอย่างเดียว แต่การสังเกตบริบท ความเป็นอยู่ รวมถึงความเสี่ยงในการใช้ชีวิตของเขา ที่ทำให้เกิดการส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยดูแลได้” น.ส.ชลดา ให้ความเห็น

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบสิทธิบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่แต่ละคนจะได้รับ ได้ที่ เว็บไซต์ สปสช. www.nhso.goth เลือกหัวข้อ “เช็คสิทธิบริการสร้างเสริมสุขภาพ” หรือผ่านไลน์ OA สปสช. (พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso ในช่องค้นหา) กดเมนูเช็คสิทธิตรวจสุขภาพฟรี นอกจากนั้นยังเข้าผ่านแอปพลิเคชัน สปสช. เมนู “เช็คสิทธิบริการสร้างเสริมสุขภาพ” ได้เช่นกัน