ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข จับมือ สปสช. แถลงข่าวข้อสรุปยุติปมปัญหางบประมาณสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยเตรียมออก ‘พระราชกฤษฎีกา’ เปิดช่องครอบคลุม 3 กองทุน ให้สิทธิ P&P แก่คนไทยทุกคนอย่างยั่งยืน


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกันแถลงข่าวเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2566 ถึงความคืบหน้าในการให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม และผู้ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ สามารถใช้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ภายใต้การบริหารจัดการโดย สปสช.

สำหรับประเด็นสำคัญในการแถลงข่าวคือ การเตรียมเสนอร่างพระราชกฤษฎีกามอบให้ สปสช. ดูแลงบสร้างเสริมสุขภาพแก่คนไทยทุกคน ซึ่งจะทำให้ทุกสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถเข้ารับบริการ P&P ได้

2

นพ.โอภาส กล่าวว่า งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 204,140.03 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบ P&P ราว 10% หรือ 21,381.11 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 1. งบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคสำหรับประชาชนในสิทธิบัตรทอง 16,235.07 ล้านบาท โดยส่วนนี้ได้อนุมัติดำเนินการดูแลประชาชนในสิทธิบัตรทองไปแล้ว

2. ส่วนที่เหลืออีก 5,146.04 ล้านบาท หรือ 2.5% ของงบภาพรวมทั้งหมด สำหรับสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคกลุ่มประชาชนนอกสิทธิบัตรทอง คือประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมาอาจไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทำให้ต้องมีการชะลอการจัดสรรงบประมาณเฉพาะส่วนนี้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สธ.ได้สั่งการให้หน่วยบริการในสังกัดยังคงให้บริการประชาชนทุกสิทธิตามปกติ ส่วนหน่วยบริการนอกสังกัด สธ. ทาง สปสช. ได้เป็นผู้ประสานให้บริการตามปกติเช่นกัน ดังนั้น ยืนยันว่า ประชาชนทุกคนทุกสิทธิยังสามารถเข้ารับบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้

2

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ประธานบอร์ด สปสช.) ได้มอบหมายให้ สปสช. หารือร่วมกับหน่วยงานที่ดูแลกองทุนสุขภาพ เพื่อออกร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดสิทธิรับบริการสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในการดูแลของกองทุนนั้นๆ สามารถใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และบริการสาธารณสุขอื่นที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ประชุมร่วมกันเพื่อจัดทำร่าง พ.ร.ฎ. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งสิ้น 6 ฉบับ และขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดให้ประชาชนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตามเพื่อแก้ไขปัญหาให้ผู้ไม่ใช้สิทธิบัตรทองได้เข้าถึงบริการ P&P ที่จำเป็นโดยเร็ว ในวันพรุ่งนี้ (9 มีนาคม 2566) บอร์ด สปสช. จะมีการประชุมวาระด่วนพิเศษผ่านระบบ Zoom พิจารณาการดำเนินการตามมาตรา 9 และมาตรา 10 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ เพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

“เมื่อดำเนินการเรื่องนี้แล้วเสร็จโดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาได้ ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน เท่ากับว่าต่อไปในอนาคตปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีก หน่วยบริการสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากมีหลักประกันที่เป็นข้อกฎหมายรองรับไว้แล้ว ต่อไปคนไทยทุกคนก็จะได้รับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

อนึ่ง การแสดงความคิดเห็น ร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดสิทธิรับบริการสาธารณสุข 6 ฉบับ ประกอบด้วย

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ - 10 มีนาคม 2566 เปิดรับความคิดเห็น

กลุ่มข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการ แสดงความคิดเห็นได้ที่
https://law.go.th/listeningDetail?survey_id=MTYwMURHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ=

กลุ่มผู้ประกันตน แสดงความคิดเห็นได้ที่
https://law.go.th/listeningDetail?survey_id=MTYwM0RHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ=

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 13 มีนาคม 2566 เปิดรับความคิดเห็น

กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ แสดงความคิดเห็นได้ที่
http://law.go.th/listeningDetail?survey_id=MTYwOURHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ=

กลุ่มผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานอื่นของรัฐ แสดงความคิดเห็นได้ที่
http://law.go.th/listeningDetail?survey_id=MTYxMERHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ=

กลุ่มพนักงานเมืองพัทยา แสดงความคิดเห็นได้ที่
http://law.go.th/listeningDetail?survey_id=MTYwN0RHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ=

กลุ่มผู้มีสิทธิเบิกจ่ายเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของกรุงเทพมหานคร แสดงความคิดเห็นได้ที่
http://law.go.th/listeningDetail?survey_id=MTYwNkRHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ=