ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สพฉ. เร่งแจง ‘จ่ายชดเชยล่าช้า’ เกิดจากระบบเบิกจ่ายมีปัญหา ยืนยัน ‘มีงบประมาณเพียงพอ’ เริ่มจ่ายได้ ก.ค. เป็นต้นไป เชื่อไม่กระทบต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน


จากที่มีประเด็นการร้องเรียนของอาสาสมัครหน่วยกู้ชีพ เกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยการปฏิบัติการล่าช้า ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติการของหน่วยกู้ชีพทั่วประเทศ 

น.อ. (พิเศษ) พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง รองเลขาธิการในฐานะโฆษกสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวชี้แจงว่า ช่วงปลายปี 2565 เกิดปัญหาของระบบในการบันทึกข้อมูล ซึ่งระบบ ITEMS เดิม ที่ สพฉ. ใช้งานมาเป็นเวลากว่า 15 ปี ส่งผลต่อการเบิกจ่ายค่าชดเชยการปฏิบัติการ สพฉ. จึงได้เร่งดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาระบบโปรแกรมรูปแบบใหม่ โดยเรียกว่าระบบ ITEMS 4.0 มาตั้งแต่ ธ.ค. 2565 และเริ่มดำเนินการใช้งาน ตั้งแต่ช่วง มี.ค. 2566  

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มดำเนินการปรับปรุงระบบ สพฉ. ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้หน่วยปฏิบัติการ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทราบถึงปัญหาและการดำเนินงานมาโดยตลอด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อบางหน่วย จนมีการพิจารณาพักการออกปฏิบัติการเป็นการชั่วคราว ซึ่งที่ทราบข้อมูลมีเป็นจำนวนน้อย โดย ณ ปัจจุบัน หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ยังดำเนินการออกปฏิบัติการให้บริการประชาชนผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินอยู่ตลอด 

น.อ. (พิเศษ) พิสิทธิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันทั้งประเทศมีหน่วยปฏิบัติการอำนวยการ หรือศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 จำนวน 82 หน่วย หน่วยปฏิบัติการแพทย์ (หน่วยกู้ชีพ) จำนวน 7,838 หน่วย ซึ่งประกอบด้วย หน่วยปฏิบัติการแพทย์ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4,892 หน่วย หรือ 60% หน่วยปฏิบัติการแพทย์ในสังกัดสถานพยาบาลของรัฐ 1,579 หน่วย หรือ 20% และหน่วยปฏิบัติการแพทย์ในสังกัดองค์กรไม่แสวงหากำไร 1,174 หน่วย หรือ 15% โดยในปี 2566 สพฉ. ได้รับงบประมาณจากกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินจำนวนกว่า 1,050 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจ่ายค่าชดเชยการออกปฏิบัติการ

น.อ. (พิเศษ) กล่าวต่อไปว่า ส่วนในระบบการจ่ายค่าชดเชยการออกปฏิบัติการของ สพฉ. นั้น จะใช้ระบบโปรแกรมสารสนเทศที่เรียกว่า ITEMS ซึ่งจะเป็นการบันทึกข้อมูลวันเวลาการออกปฏิบัติการ ข้อมูลผู้ป่วย ข้อมูลหน่วยปฏิบัติการ โดยหน่วยปฏิบัติการแพทย์ หน่วยปฏิบัติการอำนวยการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และ สพฉ. จะเห็นข้อมูลนี้ตรงกันในระบบและสรุปข้อมูลการออกปฏิบัติการในแต่ละเดือนเพื่อทำการเบิกจ่ายค่าชดเชย จากกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน  

“สพฉ. ยืนยันว่า มีงบประมาณที่เพียงพอและมีความพร้อมที่จะจ่ายค่าชดเชยในปี 2565-2566 ได้ในทันทีตามระเบียบแนวทางที่กำหนดไว้แล้ว โดยการจ่ายต้องเป็นไปตามระเบียบ ขั้นตอนของกฎหมายและต้องมีความถูกต้อง ครบถ้วนของข้อมูล ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากหน่วยปฏิบัติการและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในการปรับปรุงและยืนยันข้อมูลในระบบ ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2566 เป็นต้นมา เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ครบถ้วน และไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งจะทำให้สามารถเริ่มทยอยจ่ายค่าชดเชยให้แก่หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศได้ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. นี้ เป็นต้นไป และขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินอย่างแน่นอน” รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าว