ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สพฉ. แจง กำลังพัฒนาระบบแจ้งเหตุให้เป็นดิจิทัล รองรับ สายด่วนฉุกเฉินแห่งชาติ ให้ ตร. เป็นเจ้าภาพ หลังการควบรวม 1669 กับ 191 เผย ช่วยลดขั้นตอน-เพิ่มอัตรารอดชีวิต


จากกรณีมีกระแสข่าวการยกเลิกหมายเลข 1669 และจะรวมสายฉุกเฉินไว้เป็นหมายเลขเดียว โดยใช้หมายเลข 191 นั้น

ล่าสุดวันนี้ (3 ต.ค. 2566) ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เปิดเผยว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องที่ สพฉ. เป็นผู้กำหนดนโยบาย แต่เป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2561 ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือร่วมกันหลายหน่วยงาน และ ครม. ได้มอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เป็นเจ้าภาพ 

ทั้งนี้ จะได้รับงบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่จะไปวางแผนการดำเนินการโดยใช้หมายเลข 191 เป็นหมายเลขฉุกเฉินแห่งชาติ เหมือนกับต่างประเทศที่ใช้หมายเลขเดียวเช่น 911 หรือ 112 โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้การแจ้งเหตุฉุกเฉินของประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นระบบเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนอาจจะมีความไม่สะดวกเนื่องจากมีหมายเลขฉุกเฉินหลายเบอร์ทั้งตำรวจ การแพทย์ฉุกเฉิน และดับเพลิงกู้ภัย

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวต่อไปว่า ส่วนที่มีความกังวลจากประชาชนว่าถ้าหากเกิดขึ้นจริงและมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว รูปแบบการแจ้งเหตุจะเป็นอย่างไรนั้น ในแนวทางคือการโทร.แจ้งจะไปยังศูนย์รับแจ้ง 191 เจ้าหน้าที่จะทำการรับสายและกรองเรื่องว่าเป็นเหตุใด จากนั้นจะบันทึกข้อมูลและส่งสายต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผู้แจ้งไม่จำเป็นต้องวางสาย 

นอกจากนี้ ในอนาคตการโทร.แจ้งเหตุน่าจะกลายเป็นในรูปแบบดิจิทัลทั้งหมด ซึ่งข้อดีคือศูนย์รับแจ้งเหตุจะสามารถทราบถึงพิกัดที่อยู่ของผู้แจ้งได้ทันที ลดระยะเวลาของการสอบถามที่อยู่ซึ่งแต่เดิมอาจใช้เวลามากกว่า 2 นาที รวมถึงเมื่อมีการรวมศูนย์การรับแจ้งเหตุเป็นหมายเลขเดียวหากเป็นเหตุฉุกเฉินที่ต้องมีหลายหน่วยลงไปที่เกิดเหตุ เช่น เหตุตึกถล่ม มีทั้งคนเจ็บคนตาย ศูนย์ฯ ก็สามารถสั่งการให้ตำรวจ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน และดับเพลิงกู้ภัย รับทราบและไปยังที่เกิดเหตุพร้อมๆ กันได้อย่างรวดเร็ว 

“ในปีที่ผ่านมามีการโทรเข้ามาที่สายด่วน 1669 ประมาณ 6 ล้านครั้งต่อปี ในจำนวนนี้เป็นสายก่อกวน หรือสายที่ไม่เกี่ยวข้อง กว่า 4 ล้านครั้งหรือสองในสาม หากมีศูนย์รับสายฉุกเฉินเป็นผู้คัดกรองก่อนโอนสายมายังระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ก็น่าจะช่วยให้การทำงานของศูนย์ปฏิบัติการอำนวยการแพทย์ฉุกเฉินทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

“แต่ทั้งหมดนี้ ณ ปัจจุบันยังถือเป็นแค่แนวทาง ต้องรอแผนการดำเนินงานจากรัฐบาลชุดใหม่และจากทาง ตร. อย่างไรก็ตาม ทาง สพฉ. กำลังเร่งพัฒนาระบบการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ให้เป็นระบบดิจิทัล รองรับการเชื่อมโยงกับหมายเลขฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อพัฒนาและยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคตามนโยบาลของรัฐบาล” เลขาธิการ สพฉ. กล่าว