ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘หมอชลน่าน’ กำชับ ‘สพฉ.’ เร่งจ่ายเงินติดค้างหน่วยกู้ชีพ หลังพบเป็นปัญหาระบบบันทึกข้อมูล ด้านเลขาฯ สพฉ. ยืนยันรีบดำเนินการ พร้อมทั้งพัฒนาระบบใหม่ ‘ITEM 4.0’ ป้องกันเกิดปัญหาเดิมในอนาคต 


จากกรณีที่มีการตั้งกระทู้ถามถึงปัญหาการจ่ายเงินค่าชดเชยการปฏิบัติการฉุกเฉินของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ให้กับหน่วยปฏิบัติการกู้ชีพทั่วประเทศล่าช้า โดยมีการตั้งคำถามไปยังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่าจะสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุมัติงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาเงินค้างจ่ายให้แก่หน่วยงานกู้ชีพโดยด่วน ได้หรือไม่ และจะดำเนินการได้เมื่อใดนั้น

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข และประธานคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้กำกับ ติดตาม และกำชับให้ สพฉ. เร่งดำเนินการเบิกจ่ายเงินค่าชดเชยการปฏิบัติการฉุกเฉินให้เป็นไปอย่างถูกต้อง และรวดเร็ว รวมถึงให้ สพฉ. ทำความเข้าใจกับหน่วยปฏิบัติการให้ทราบต่อไป 

นอกจากนี้ ในวันนี้ (28 ก.ย. 2566) ที่รัฐสภา นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข  ยังได้รับมอบหมายจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ให้ตอบกระทู้ถามประเด็น ที่ สพฉ. ค้างจ่ายเงินค่าชดเชยการปฏิบัติการฉุกเฉินด้วย โดยนายสันติ กล่าวว่า จากข้อเท็จจริงพบว่า การจ่ายเงินค่าชดเชยการปฏิบัติการฉุกเฉินไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด เนื่องจากปัญหาระบบสารสนเทศการแพทย์การแพทย์ฉุกเฉิน (ITEMS) ที่ใช้อยู่เดิม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเก่าที่ใช้งานมานานถึง 15 ปี ไม่รองรับข้อมูลที่มีจำนวนมากได้ ทำให้ไม่สามารถใช้การได้ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. 2565 เป็นต้นมา 

2

ทั้งนี้ จากการดำเนินการจนถึงเดือน ส.ค. 2556 นั้น สพฉ. ได้ดำเนินการเบิกจ่ายแล้วเป็นเงินราว 520 ล้านบาท รวมกับยอดปฏิบัติการเดือนกันยายนที่กำลังเบิกจ่ายอีกประมาณ 161.3 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นราว 681.3 ล้านบาท คิดเป็น 70% ของวงเงินค่าชดเชยปฏิบัติการฉุกเฉินทั้งปี โดยมีหน่วยที่ได้รับเงินไปแล้วจำนวน 3,578 หน่วย สำหรับในส่วนที่รอจ่ายอีกเป็นเงินราว 288.3 ล้าน นั้น อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูล เพื่อดำเนินการจ่ายต่อไป

ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ทาง สพฉ. ได้เร่งรัดดำเนินการจ่ายเงินค่าชดเชยการปฏิบัติการฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาเงินค้างจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่หน่วยปฏิบัติการ โดยจะดำเนินการตามขั้นตอนการจ่ายเงินให้แล้วเสร็จตามแผนและห้วงเวลาการจ่ายวงรอบปกติให้ได้โดยเร็ว ทาง สพฉ. ยังได้มีการพัฒนาโปรแกรมใหม่ที่ทันสมัยมากขึ้นในชื่อ ITEMS 4.0 เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต 

รวมถึง รมว.สธ. และประธานคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินจะกำกับติดตามการเบิกจ่ายเงินค่าชดเชยการปฏิบัติการฉุกเฉินจนกว่าจะแล้วเสร็จ และขอขอบคุณหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทั่วประเทศ ทั้งโรงพยาบาลรัฐ เอกชนทุกแห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไรทุกแห่ง ที่ยืนหยัดในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินเคียงข้าง สพฉ. ตลอดเวลาที่ผ่านมา