‘หมอชลน่าน’ ในฐานะประธาน บอร์ด สปสช. ลงนามแต่งตั้ง ‘คณะอนุกรรมการพัฒนาและสนับสนุนหน่วยบริการในการให้บริการสาธารณสุข’ ภายใต้ ‘ระบบบัตรทอง’ ปลัด สธ. เป็นประธาน ตอบสนองข้อเสนอตั้ง ‘Provider Board’
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) และประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้ลงนามในประกาศคำสั่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ 6/2567 เรื่องแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการพัฒนาและสนับสนุนหน่วยบริการในการให้บริการสาธารณสุข ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ลงวันที่ 5 มี.ค. 2567 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ประกอบกับมติ บอร์ด สปสช. ในการประชุมครั้ง 2/2567 เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567
ทั้งนี้ เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนา สนับสนุน ส่งเสริม ขับเคลื่อนการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) รวมทั้งกำกับติดตามการให้บริการสาธารณสุขให้สอดคล้องกับหลักการและหน้าที่ตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ และนโยบายของรัฐบาลในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
รวมถึงนำความปลอดภัย สร้างศักดิ์ศรี และนำความภาคภูมิใจมาสู่ประชาชนไทยทุกคน โดยเฉพาะการสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ ตลอดจนสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพในระยะยาวให้เกิดความเท่าเทียมเป็นธรรมของคนทุกกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
สำหรับขอบเขตอำนาจหน้าที่ คือ 1. ศึกษา ทบทวน วิเคราะห์ระบบสนับสนุนหน่วยบริการในการให้บริการสาธารณสุขภายใต้ระบบบัตรทอง 2. จัดทำข้อเสนอ มาตรการในการพัฒนา สนับสนุน ส่งเสริมและขับเคลื่อนระบบสนับสนุนหน่วยบริการภายใต้ระบบบัตรทองตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ตลอดจนนโยบายและยุทธศาสตร์ระบบบัตรทอง รวมถึงนโยบายรัฐบาลและนโยบายเร่งด่วน
3. สื่อสาร ให้คำแนะนำ และประสานความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการทุกภาคส่วน รวมถึงกำกับติดตามการสนับสนุนหน่วยบริการในการให้บริการสาธารณสุข ภายใต้ระบบบัตรทอง และการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยบริการตามมาตรา 3, 45, 46, 57 และ 59 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ 4. รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องและบอร์ด สปสช. โดยผ่านคณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ 5. แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการทำงานได้ตามความเหมาะสม และ 6. ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
ในส่วนองค์ประกอบ ได้แก่
- ปลัด สธ. เป็นประธานอนุกรรมการ
- รองเลขาธิการ สปสช. สายงานบริหารกองทุน สปสช. เป็นอนุกรรมการ และเลขานุการ
- หัวหน้าผู้ตรวจราชการ สธ. เป็นอนุกรรมการ และเลขานุการร่วม
- ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดสรรและชดเชยค่าบริการ สปสช. เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
- ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพหลักประกันสุขภาพ สป.สธ. เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
- ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข สป.สธ. เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
- รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
- รองปลัด สธ. (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสนับสนุนบริการสุขภาพ)
ขณะที่อนุกรรมการที่เหลือ ประกอบด้วย
- เจ้ากรมแพทย์ทหารบก
- เจ้ากรมแพทย์ทหารเรือ
- เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ
- นายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ
- อธิบดีกรมการแพทย์
- อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
- อธิบดีกรมสุขภาพจิต
- เลขาธิการ สปสช.
- ประธานคณะกรรมการอำนวยการ UHosNet
- ประธานชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)
- ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป
- ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน
- นายกสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น
- นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน
- ผู้แทนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในสังกัด สป.สธ.
- ผู้แทน รพ.สต. ในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
- ผู้แทนคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกการแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น และคลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น (คัดเลือกกันเองให้เหลือจำนวนหนึ่งคน)
- ผู้แทนร้านยาชุมชนอบอุ่น
- ผู้แทนหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านบริการเอชไอวี (HIV) และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน
- ผู้แทนเทศบาลใน บอร์ด สปสช.
- ผู้แทนสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ
อนึ่ง การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดนี้ สืบเนื่องจากการพิจารณาข้อเสนอใน 2 ประเด็น คือ 1. การจัดตั้งเครือข่ายผู้ให้บริการ (Provider Board) และ 2. ทบทวนการกระบวนการทำงานของ สปสช. อย่างเร่งด่วน ของเครือข่ายและสมาคมทางการแพทย์และสาธารณสุขรวม 5 เครือข่าย ได้แก่ 1. UHosNet 2. ชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ 3. ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 4. สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น และ 5. สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ที่ได้ยื่นหนังสือถึง นพ.ชลน่าน เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567
- 298 views