ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

5 เครือข่ายแพทย์ - สธ. - สปสช. ได้ข้อสรุปปม สปสช. ค้างจ่ายค่าบริการ  เร่ง ‘ชะลอจ่ายยอดปีก่อน – ลดอัตราจ่ายปีนี้ - ตั้ง Provider board’ ทุกฝ่ายย้ำไม่กระทบต่อการให้บริการ ปชช.


ภายหลังเครือข่ายและสมาคมทางการแพทย์และสาธารณสุข รวม 5 เครือข่าย ได้แก่ 1. เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) 2. ชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ 3. ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 4. สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น และ 5. สมาคมโรงพยาบาลเอกชน รวมกว่า 100 คน เข้ายื่นหนังสือถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 13 ก.พ. 2567 ณ สำนักปลัด สธ. เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้างจ่ายค่าบริการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตลอดจนแก้ไขอัตราค่าบริการที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ด้วยการยื่นข้อเสนอใน 2 ประเด็น คือ 1. การจัดตั้งเครือข่ายโรงพยาบาล (Provider Board) และ 2. การกระบวนการทำงานของ สปสช. อย่างเร่งด่วน โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ซึ่งได้รับมอบหมายจาก นพ.ชลน่าน ให้เป็นผู้รับหนังสือแทน

ในช่วงบ่าย นพ.ชลน่าน ได้เดินทางกลับเข้ามายัง สธ. และได้เข้าหารือร่วมกับผู้แทนเครือข่ายฯ เป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง ก่อนจะได้ข้อสรุปร่วมกัน โดย นพ.โอภาส และ นพ.จเด็จ ได้ร่วมกับแถลงข่าวถึงผลการหารือ ซึ่งจะดำเนินการตามข้อเสนอทั้ง 2 ประเด็น

นพ.โอภาส เปิดเผยว่า จากนี้จะมีการทบทวนถึงการดำเนินการของ สปสช. ที่ผ่านมาตลอด 20 ปีว่าตรงไหนเป็นจุดแข็งและตรงไหนเป็นจุดอ่อน รวมถึงในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่นอกจากจะมี สปสช. เป็นผู้บริหารจัดการแล้ว เสาหลักอีกอันหนึ่งก็คือผู้ให้บริการ ซึ่งทั้ง 5 เครือข่ายเห็นตรงกันว่าอยากมีช่องทางที่ได้สะท้อนความเห็นของผู้ให้บริการต่อมติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และ สธ. กับ สปสช. ก็เห็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงจะมีการจัดตั้ง Provider Board อย่างเร็วที่สุด โดย จะมีบทบาทในการสะท้อนความเห็นกลับมายังกติกาที่ สปสช. ได้ประกาศออกมา

นอกจากนี้ ในประเด็นเร่งด่วนอย่างการค้างจ่ายค่าบริการจำนวนกว่า 1,000 ล้านบาท ทาง นพ.ชลน่าน ก็ได้เห็นชอบให้แก้ไขโดยเร่งด่วนตามแนวทาง คือ 1. การหักเงินหน่วยบริการให้ชะลอไว้ก่อน 2. เงินที่ค้างจ่ายให้ สปสช. และหน่วยบริการรีบทำข้อตกลงกันว่าจะต้องจัดสรรอย่างไรเพื่อให้หน่วยบริการต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) อยู่ได้ ซึ่งได้มอบให้ทาง เลขาธิการ สปสช. ดำเนินการต่อไป

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า เรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ สปสช. ต้องรับผิดชอบ ก็ยืนยันว่ากรณีของปีงบประมาณก่อนๆ จะมีการชะลอเอาไว้ก่อน เพื่อให้ระบบบริการเดินต่อไปได้ รวมถึงตรวจสอบข้อมูลจากทุกฝ่าย ทั้งในส่วนคลินิกชุมชนอบอุ่น และหน่วยบริการต่างๆ ส่วนประเด็นที่คลินิกชุมชนอบอุ่นกังวลว่าในปีงบประมาณ 2567 นี้งบประมาณจะไม่เพียงพอในการสนับสนุนเพื่อให้บริการ ก็ได้มีมติร่วมกันว่า สปสช. จะจ่ายในอัตราที่ลดลงมาก่อน โดยจะมีคณะทำงานร่วมกันระหว่างคลินิกชุมชนอบอุ่นกับ สปสช. และผู้เชี่ยวชาญที่เป็นคณะทำงานย่อยเพื่อเร่งทำข้อมูลให้มีความชัดเจน

“โดยหลักเราควรจะจ่ายที่อัตราอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่มาวันนี้มีข้อสงสัยและทางคลินิกฯ ก็พูดตลอดว่าไม่เห็นข้อมูลจาก สปสช. เลย ซึ่งเราก็มองว่าอันนี้เป็นปัญหาเลย จะต้องรีบแก้ไข เพียงแต่ว่าฝั่งที่เปิดเผยข้อมูลก็มีปัญหาอีก แต่ก็ต้องแก้ปัญหาและดูกันให้ชัด เพราะว่าหลายท่านยืนยันว่าไม่ได้ส่งผู้ป่วยออกไป แต่ข้อมูลแสดงว่ามีการส่งข้อมูลออกไป ก็กลายเป็นค่าใช้จ่ายเขาถูกตัดแบ่งออก

“สำหรับกรอบระยะเวลาในการแก้ไข จริงๆ ก็อยากให้เสร็จวันนี้พรุ่งนี้เลย แต่เวลาจะคุยกันมันไม่ง่ายเท่าไหร่ เดี๋ยวกลับไปจะต้องคุยกันว่าให้เร็วที่สุดได้ไหม ก่อนสิ้นเดือนนี้ไหวไหม เพราะส่วนตัวอยากให้เร็วมากๆ แต่จะไปพูดแทนคนอื่นอาจจะไม่เหมาะ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า กรณีการจัดตั้ง Provider Board นั้นจะถูกตั้งภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยท่าน นพ.ชลน่าน ก็ได้ชี้แจงชัดแล้วในการพูดคุยว่าตามกฎหมายได้ให้อำนาจไว้ที่บอร์ด สปสช. เป็นผู้จัดตั้ง และประสงค์จะใช้ในกลไกนี้ แม้จริงๆ มีกลไกอื่นด้วยก็ตาม ซึ่งต้องบอกว่าบอร์ด สปสช. มีมติเรียบร้อยแล้วในการให้อนุกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบาย สปสช. ที่มีหน้าที่ในการเสนอเรื่องนี้โดยตรง ร่วมกับ สธ. ในการทบทวนบทบาทของ Provider Board และยกร่างจัดตั้งขึ้นมา

“ไม่ได้หมายความว่าเราจะยกเลิกหรือไม่เอา Provider Board แต่การเสนอเรื่องนี้เข้าไปบอร์ด สปสช. แต่ละครั้ง มักมาในลักษณะของวาระด่วน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ากรรมการแต่ละท่านอาจจะตั้งตัวไม่ทัน แต่หลังจากนี้ก็จะเร่งดำเนินการ คิดว่าคงไม่เกิน 1 เดือนน่าจะได้เห็น โดยถ้าไม่ทันเสนอเข้าการประชุมบอ์ด สปสช. ในวันที่ 21 นี้ ก็จะเป็นครั้งถัดไปในวันที่ 20 มี.ค.” นพ.จเด็จ ระบุ

เมื่อถามว่าหลักการของ Provider Board ควรจะมีทุกภาคส่วนเข้ามาเลยหรือไม่ เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ควรจะเป็นไปในทิศทางนั้น เพราะตอนนี้ในส่วนคำว่าผู้ให้บริการก็ครอบคลุมค่อนข้างมากขึ้น เช่น ภาคประชาชนที่ให้บริการ ก็เป็นหนึ่งในหน่วยบริการในระบบ สปสช. ตามมาตรา 3 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ถ่ายโอน และโดยเฉพาะ 5 เครือข่ายแพทย์ในวันนี้ด้วยที่ควรจะมีตัวแทนเข้ามา ซึ่งเราคิดว่าถือเป็นเรื่องดี เพื่อให้มีความครอบคลุมกับปัญหาจริงๆ

“ไม่อยากให้มอง Provider Board ว่าดูแค่เรื่องของระบบการจ่ายเงิน แต่อยากให้ดูว่าประชาชนได้อะไรจากระบบบริการที่มีสิ่งนี้เกิดขึ้นมา ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นนโยบายของท่าน รมว.สาธารณสุข และท่านปลัด สธ. ซึ่งถ้าเรามองในมุมนั้นก็เป็นเรื่องดี ไม่ได้เสียหายอะไร” นพ.จเด็จ กล่าว

เมื่อถามว่าเดิมเวลามีปัญหาที่คลินิกชุมชนอบอุ่นใน กทม. เรื่องจะถูกส่งไปที่ อปสข. เขต 13 กทม. ก่อน พอมี Provider Board ขึ้นมาจะเป็นดำเนินการแบบนี้หรือไม่ นพ.จเด็จ ระบุว่า โดยกติกาที่บอร์ด สปสช. กำหนด ยังผ่องถ่ายข้อเสนอต่างๆ ไปที่ อปสข. ทุกเขต ไม่ใช่เฉพาะ กทม. เพียงแต่ในการพูดคุยเมื่อซักครู่ ท่าน นพ.ชลน่าน ก็บอกว่าบางเรื่องควรจะเข้า Provider Board โดยตรงเลย ซึ่งเหล่านี้อาจต้องพิจารณาก่อนว่าเรื่องใดสามารถทำได้

ขณะที่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการ UHosNet และตัวแทนจากสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น กล่าวว่า การพูดคุยในครั้งนี้ทำให้ทั้ง 5 เครือข่าย ดีใจขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ก็คงต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด ส่วนสิ่งที่เราดำเนินการอะไรต่างๆ ในเชิงสัญลักษณ์ เพียงแค่อยากสะท้อนข้อมูลจริงให้กับผู้ใหญ่ใน สธ. และ สปสช. ได้รับทราบ ซึ่งอาจจะยังมีการดำเนินการต่อไป แต่จะไม่มีการทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ให้บริการ เพราะฉะนั้นอยากให้ประชาชนทุกคนสบายใจได้