ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เรื่อง “สุขภาพ” เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของมนุษย์ แต่ “การเข้าถึงระบบสุขภาพ” กลับไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐานที่ทุกคนจะได้รับอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฐานสมการที่สำคัญนั้นยังมีคำว่า “ค่าใช้จ่าย” ตั้งอยู่เป็นอุปสรรคกีดกันผู้คนให้สามารถเข้าถึงความจำเป็นนี้ได้แตกต่างกัน

สำหรับคนไทย แน่นอนว่าตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เรามีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เข้ามาเป็นกลไกสนับสนุนสำคัญ ที่ช่วยรองรับประชากรเกือบทั้งหมดให้สามารถเข้าถึงระบบสุขภาพได้ โดยไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรค

หากไม่อาจปฏิเสธได้ว่าภายใต้ช่องว่างบางประการ รวมถึงภาพของสถานการณ์ที่มีปัจจัยความท้าทายใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง จึงยังส่งผลให้มีผู้คนส่วนหนึ่งที่อาจเล็ดรอด หลุดออกไปจากร่มไทรของความคุ้มครองทางสุขภาพเหล่านี้

เมื่อตั้งคำถามว่าเราจะสร้างระบบสุขภาพที่มีการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ยั่งยืนให้สำเร็จได้อย่างไร “The Coverage” ได้มีโอกาสรับฟังมุมมองอันน่าสนใจจากตัวแทนภาคเอกชน ดร.โจเซฟ ซาบา (Joseph Saba) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Axios International หนึ่งในบริษัทที่ดำเนินงานด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพ มากว่า 25 ปี ภายใต้การทำงานในกว่า 100 ประเทศ ไม่ว่าละตินอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชีย มาร่วมให้แนวคิดกับเรื่องนี้

ในฐานะแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อ การจัดการด้านสุขภาพและสถิติ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในแวดวงอุตสาหกรรมด้านการดูแลสุขภาพ ขับเคลื่อนการเข้าถึงยา ทั้งยังร่วมโครงการพัฒนาและวิจัยด้านสุขภาพระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นโครงการร่วมเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) องค์การอนามัยโลก (WHO) หรือแม้แต่โครงการถุงยางอนามัยสำหรับสตรีในประเทศไทย จากประสบการณ์ทั้งหมดทำให้เขาสามารถสะท้อนมุมมองเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

เขาเริ่มฉายภาพใหญ่ถึงสถานการณ์ด้านสุขภาพ จากสัดส่วนประชากรโลกที่กำลังเติบโตเข้าสู่ “สังคมสูงอายุ” อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความชุกของ “โรคเรื้อรัง” เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันโรงพยาบาลหลายแห่งก็ไม่สามารถรับมือกับการเพิ่มขึ้นนี้ได้

ไม่เพียงเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาทั่วโลกยังต้องเผชิญกับวิกฤตภัยคุกคามด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นจาก “โควิด-19” ซึ่งสร้างภาระอันหนักอึ้งเกินกว่าที่สถานพยาบาลจะแบกรับ ในขณะที่กลุ่มผู้ป่วยเองก็ไม่สามารถเข้าถึงระบบการแพทย์ได้ตามปกติ

ท่ามกลางการหยุดชะงักของการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตประจำวัน ดร.โจเซฟ ระบุว่าการแพร่ระบาดในครั้งนี้ ถือเป็นแรงกระตุ้นสำคัญของวงการแพทย์และสาธารณสุข ให้ต้องพัฒนาอย่างรวดเร็วและเร่งด่วน เมื่อคนส่วนใหญ่ได้เห็นถึงความจำเป็นของการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤตที่อาจเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว

ดร.โจเซฟ ชี้ว่า นี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่เราจะต้องร่วมกันสร้างให้เกิด การเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างยั่งยืน ซึ่งอยู่บนหลักสำคัญ 3 ประการ คือ 1. ระบบการรักษาพยาบาลที่ยืดหยุ่น 2. ค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสม และ 3. ระบบการสื่อสารและจัดการที่มีประสิทธิภาพ

ระบบการรักษาพยาบาลที่ ‘ยืดหยุ่น

ในประเด็นแรก ดร.โจเซฟ ยกตัวอย่างการปรับโครงสร้างการเข้ารับการรักษาให้มีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ ซึ่งเป็นภาพที่เราอาจได้เห็นไปบางแล้วในช่วงโควิด-19 เช่น การใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย เพื่อจำกัดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล

ตัวอย่างเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็น การพบแพทย์ทางไกล (telemedicine) ระบบการสั่งยาหรือปรึกษาเภสัชกรผ่านช่องทางออนไลน์ และการส่งยาแบบเดลิเวอรี่ถึงหน้าประตูบ้านผู้ป่วย เพื่อแก้ไขปัญหาจำนวนบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่เพียงพอ และเพื่อลดระดับความเสี่ยงติดเชื้อของผู้ป่วย

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันระบบการรักษาพยาบาลที่มีอยู่เดิมของเราเป็นระบบ “passive” หรือระบบที่รอให้ผู้ป่วยมาที่สถานพยาบาล แต่หาก “ผู้ป่วยไม่มา” ก็ “ไม่มีอะไรเกิดขึ้น” ขณะเดียวกันแต่ละโรงพยาบาลก็ไม่ได้แบ่งปัน “ข้อมูลการเข้ารับการรักษา” ร่วมกัน จึงทำให้อาจพลาดข้อมูลสำคัญ เช่น การแพ้ยา หรือ การรักษาที่ใช้แล้วไม่ได้ผล ฯลฯ

โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังในช่วงโควิด-19 ที่เป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ขั้นรุนแรงที่สุด จึงทำให้ไม่สามารถเข้าพบแพทย์ตามนัดได้ ทั้งที่มีความจำเป็นจะต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด

1

“ผู้ป่วยโรคเรื้อรังส่วนใหญ่ต้องการความช่วยเหลือในการรับมือกับโรคและการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาไม่ได้อยู่ใกล้มือแพทย์ ผู้ป่วยจำนวนมากจบการรักษาลงด้วยการหยุดยาโดยไม่ได้รับคำแนะนำ ดังนั้นพวกเขาต้องการการสนับสนุนและผลักดันให้เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง” ดร.โจเซฟ อธิบาย

เขาจึงชี้ประเด็นถึงการเชื่อมต่อผู้ป่วยกับบริการด้านสุขภาพ โดยการใช้ “เทคโนโลยีดิจิทัล” เป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความสม่ำเสมอในการรักษา ซึ่งเครื่องมือดิจิทัลไม่เพียงแต่เชื่อมโยงผู้ป่วยกับแพทย์เท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจโรคและแนวทางการรักษาได้ดียิ่งขึ้น

“จากประสบการณ์ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ายิ่งผู้ป่วยได้รับข้อมูลมากเท่าไร พวกเขาก็จะยิ่งจัดการรับมือกับอาการเรื้อรังได้ดีขึ้นเท่านั้น จึงจำเป็นที่เราจะต้องมีโซลูชันสำหรับการดูแลสุขภาพแบบดิจิทัลเพื่อเติมเต็มช่องว่างภายในและภายนอกโรงพยาบาล และเพื่ออำนวยความสะดวกในการดูแลรักษาผู้ป่วย” ซีอีโอรายนี้อธิบาย

หนึ่งในมุมองของ ดร.โจเซฟ  คือวิธีการสร้างระบบสาธารณสุขที่เหมาะสมและเข้าถึงคนไทยอย่างทั่วถึง โดยใช้แนวคิดเดียวกันกับการจัดส่งอาหารบนแพลตฟอร์ม Grab Food 

เขาอธิบายว่า เมื่อชีวิตตกอยู่ในความเสี่ยง เราจำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่การจัดหาโซลูชันด้านการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุดในกรอบเวลาที่สั้นที่สุด โดยไม่ควรยึดติดกับข้อจำกัดด้าน “สถานที่ตั้ง” ของสถานพยาบาล และ “ระยะทาง” ที่ผู้ป่วยจะต้องเดินทางมาเข้ารับการรักษา

ดังนั้นเราจึงควรใช้ประโยชน์จาก “เครื่องมือดิจิทัล” และ “เทคโนโลยีการรักษาจากระยะไกล” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วย เพราะทุกวันนี้ผู้คน หรือในกรณีนี้คือผู้ป่วย ต่างก็มีเครื่องมือสื่อสารและเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ดังนั้นประสบการณ์ของผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดอยู่แต่ในโรงพยาบาลท้องถิ่น อย่างเมื่อหลายปีก่อนอีกต่อไป

ทั้งนี้ แม้ว่าการไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลยังคงเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อจำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่เขามองว่านี่ไม่ควรเป็น “ทางเลือกเดียว” ของผู้ป่วย เพราะการพึ่งพาการบริการทางการแพทย์ในท้องถิ่นมากเกินไป อาจทำให้การตอบสนองต่อโรคอุบัติใหม่ ภัยคุกคามด้านสุขภาพทั่วโลก และภาวะฉุกเฉินเป็นไปได้ยาก

อย่างไรก็ตาม ดร.โจเซฟ ยืนยันว่าการดูแลสุขภาพโดยทีมแพทย์ที่ประจำอยู่ในท้องถิ่น จะยังคงมีความสำคัญอยู่เสมอ แต่นั่นอาจไม่เพียงพออีกต่อไป หากผู้ป่วยกำลังเผชิญกับอาการร้ายแรงหรืออาการที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาแบบเฉพาะ ซึ่งแพทย์ในพื้นที่นั้นอาจไม่มีประสบการณ์ในการรักษาโรคแบบเฉพาะทาง

โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น และช่วงที่การระบาดใหญ่ของโรค เมืองต่างๆ จะไม่สามารถดูแลประชากรของตนแค่เพียงภายในโรงพยาบาลได้อีกต่อไป เนื่องจากโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์มีจำนวนจำกัดในแต่ละเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่ชานเมือง

นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องเติมเต็มช่องโหว่ด้วยการให้บริการแก่ผู้ป่วยที่อยู่นอกสถานพยาบาล ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านี้ได้อย่างมาก โดยไม่ต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ

ค่ารักษาพยาบาลที่ ‘เหมาะสม

เมื่อกล่าวเพิ่มเติมถึง “ระบบสุขภาพที่มีศักยภาพ” ดร.โจเซฟ ให้มุมองว่าจะต้องมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งสิ่งนี้จะประสบผลสำเร็จได้ต่อเมื่อผู้ป่วย “ปฏิบัติตามแผนการรักษา” ได้อย่างเคร่งครัด

หากแต่โดยส่วนมากแล้วจะพบว่า ความเป็นไปได้ของการเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องนั้น จะขึ้นอยู่กับ “ค่าใช้จ่าย” ที่ต้องใช้ในการรักษา เทียบกับ “รายได้” และ “ภาระทางการเงิน” ของแต่ละบุคคล

แม้ในทางหนึ่งเมื่อกระบวนการรักษาพยาบาลได้ถูกแปลงเป็นดิจิทัลมากขึ้น และมีการเชื่อมต่อกับผู้ป่วยที่ดีขึ้น ก็สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้ แต่นอกจากความยืดหยุ่นในแง่ของการเดินทางเข้ารับการรักษาแล้ว “ค่าพยาบาลที่เหมาะสม” ก็จะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อผลการรักษาของผู้ป่วยแต่ละคน

ดร.โจเซฟ เล่าถึงประสบการณ์ของผู้ป่วยหลายรายที่เข้าร่วมโครงการของ Axios ระบุว่าพวกเขาขอ “เลือกใช้เงิน” ที่ต้องนำมาดูแลรักษาโรคเรื้อรังของตัวเอง ไปเพื่อดูแลครอบครัว และเลือกที่จะยอมทนเจ็บป่วยต่อไป เพราะการรักษาโรคไม่ติดต่อแบบเรื้อรังมีค่าใช้จ่ายสูง และใช้ระยะเวลารักษายาวนาน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น

“ภาวะที่ประชาชนมีความสามารถในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ (Affordability) จำเป็นต้องได้รับการระบุให้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการทำกลยุทธ์การเข้าถึงทุกประเภท เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเรื่องการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ยั่งยืน” เขาเน้นย้ำ

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าในยุคที่จำนวนเคสการรักษายิ่งเพิ่มขึ้น และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ก้าวล้ำแบบมหาศาล ย่อมไม่มีใครสามารถแก้ปัญหาเรื่อง Affordability โดยลำพังฝ่ายเดียว ดังนั้นโซลูชั่นที่จะ “เพิ่มความสามารถในการจ่ายได้” เพื่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมกันนั้น จะต้องการความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม ระหว่างทั้งรัฐบาล บริษัทยาข้ามชาติ บริษัทประกัน องค์กรการกุศล และภาคประชาสังคม

ส่วนประเด็นหนึ่งที่อาจถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอย่าง “การลดราคาผลิตภัณฑ์” เขามองว่าเรื่องนี้เพียงอย่างเดียว ไม่อาจสร้างการเข้าถึงที่ยั่งยืนไม่ว่าจะขณะนี้หรือในอนาคต เนื่องจากการลดราคาตัวยาหรือการรักษานั้น ไม่ได้พิจารณาถึง “เส้นทางการรักษาเต็มรูปแบบ” ของผู้ป่วยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีที่สุด

ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นคือโซลูชันแบบองค์รวมที่มีมากกว่าแค่การลดราคา เพื่อให้ประชาชนสามารถจ่ายได้ ดังเช่นที่เราได้เรียนรู้จากกรณีของเอชไอวี และวัคซีนโควิด-19 ว่ายังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องพิจารณามากกว่าราคา เพื่อให้เกิด “การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมกัน”

1

ระบบการสื่อสารที่ ‘มีประสิทธิภาพ

จากปัจจัยต่างๆ ข้างต้น จะมองเห็นได้ว่า “การร่วมมือกันของทุกฝ่าย” นั้นเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำให้เกิดการเข้าถึงการรักษาที่ยั่งยืนและเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้น ดร.โจเซฟ จึงเน้นย้ำว่าสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ “ระบบการสื่อสาร” ที่สามารถเชื่อมต่อโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วย

สำหรับระบบการสื่อสารนี้ ก็เพื่อจัดการแผนการรักษา ทำนัด ให้คำปรึกษาเมื่อไม่จำเป็นต้องตรวจร่างกาย และติดตามอาการได้อย่างต่อเนื่องแม้อยู่นอกเขตพื้นที่ของโรงพยาบาล อีกทั้งยังต้องสามารถอำนวยความสะดวกด้านการจัดเก็บข้อมูล การเดินเอกสาร และการอัปเดตสถานะการรักษาโดยรวมได้ ภายใต้ระบบที่ปลอดภัยและมั่นคง

ดร.โจเซฟ อธิบายว่า การดูแลสุขภาพสมัยใหม่ต้องการระบบนิเวศ (ecosystem) ด้านสุขภาพ ที่มีโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเป็นศูนย์กลาง และไม่ครอบคลุมแค่เพียงองค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น แต่จำเป็นต้องครอบคลุมระบบการดูแลสุขภาพรอบด้าน โดยเป็นช่องทางให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มสามารถติดตามอาการ และให้การรักษาแก่ผู้ป่วยนอกสถานพยาบาลได้ ซึ่งจะนำไปสู่การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ยั่งยืนได้ในที่สุด

“ในทุกระบบนิเวศ การติดต่อสื่อสารถือเป็นกุญแจสำคัญ และสำหรับระบบนิเวศการของการดูแลสุขภาพนั้น การสื่อสารที่มีคุณภาพ ก็จะสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงผู้ป่วย เชื่อมต่อระหว่างผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพและผู้ป่วย อีกทั้งยังเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านสุขภาพได้อย่างรวดเร็ว” เขาให้หลักการ

นอกจากนี้ อีกหนึ่งข้อคิดที่บุคลากรและนักธุรกิจผู้เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุขไม่ควรมองข้าม คือ “การปฏิวัติทางดิจิทัล” ของอุตสาหกรรม การธนาคาร การเงิน และห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเห็นได้ชัด ในขณะที่วงการ “Health Care” หรือการดูแลสุขภาพ ยังคงล้าหลังอยู่มาก

ซีอีโอรายนี้มองว่า แม้โลกปัจจุบันจะถูกเชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึงมากขึ้น แต่ระบบการรักษาพยาบาลกลับไม่เป็นเช่นนั้น เราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ โดยทำให้ระบบการรักษาพยาบาล “เป็นดิจิทัล” ทั้งภายในและภายนอกสถานพยาบาล รวมถึงเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่อาจจะต้องเผชิญกับภัยคุกคามด้านสุขภาพระดับโลกครั้งต่อไป ด้วยระบบที่เชื่อมต่อทุกองค์กรให้อยู่ในระบบนิเวศเดียวกันอย่างเต็มตัว

เขายกตัวอย่างไปถึงประสบการณ์ของ Axios International ที่ได้พัฒนานวัตกรรมเครื่องมือดิจิทัลใหม่ๆ รวมถึงแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่และบนระบบออนไลน์ ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อพัฒนาผลการรักษา โดยอำนวยความสะดวกให้การเชื่อมต่อระหว่างหลากหลายภาคส่วนที่มีส่วนสนับสนุน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาในโปรแกรมต่างๆ ได้ ซึ่งรวมไปถึงผู้ป่วย แพทย์ เภสัชกร ตลอดจนองค์กรการกุศลในบางกรณี

สำหรับเครื่องมือดิจิทัลเหล่านี้ มีศักยภาพในการอำนวยความสะดวกให้กับการดูแลรักษาร่วมกันในหลายมิติ โดยในเชิงภาพใหญ่ของระบบ เครื่องมือเหล่านี้จะสามารถช่วยเติมเต็มช่องว่างนอกโรงพยาบาลได้ ตัวอย่างเช่น เครื่องมือที่ใช้ในการสนับสนุนผู้ป่วยโดยระบุแนวโน้มในการ “ปฏิบัติตามการรักษา” และปัจจัยที่ “ขัดขวางการรักษา” ได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น

เครื่องมือเดียวกันนี้ได้ถูกใช้ในช่วงโควิด-19 เพื่อเชื่อมต่อกับผู้ป่วยที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบางที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะได้รับการรักษาต่อไปแม้ว่าจะไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้

“หากเราสามารถเชื่อมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการดูแลสุขภาพต่างๆ เข้าด้วยกันไว้บนแพลตฟอร์มเดียว ที่ช่วยให้สามารถส่งต่อข้อมูลรายบุคคลได้อย่างราบรื่น ไม่เพียงแต่เราจะสามารถสนับสนุนผู้ป่วยของเราเท่านั้น แต่ยังสามารถอำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เภสัชกร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการดูแลสุขภาพในวงกว้าง ด้วยการเข้าถึงที่ยั่งยืนและเท่าเทียมกัน” ดร.โจเซฟ ระบุ

เขายังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า การร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับระบบการดูแลสุขภาพ ให้เอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป สามารถเกิดขึ้นได้หากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล บริษัทยา บริษัทประกัน ภาครัฐ หน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร และผู้ป่วย ในการแบ่งรับแบ่งสู้” ให้ไม่มีฝ่ายใดแบกภาระไว้เพียงฝ่ายเดียว