ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัจจุบัน ‘ร้านยา’ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกลไกของหน่วยบริการที่สำคัญ และเข้ามามีบทบาทในระบบสุขภาพปฐมภูมิของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้นโยบาย ‘30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว’ ที่ดึงเอาการมีส่วนร่วมของหน่วยบริการภาคเอกชนทุกองคาพยพ เข้ามาร่วมให้บริการแก่ประชาชน

ภายหลังจากการเข้าร่วมงานประชุมแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาแพลตฟอร์มบริการทางการแพทย์ดิจิทัลปฐมภูมิ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2567 พบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจจาก ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 2 ซึ่งได้ระบุเอาไว้ถึงการ ‘ขยายกลุ่มอาการในโครงการเจ็บป่วยเล็กน้อยรับยาได้ที่ร้านยา’ ทาง “The Coverage” จึงไม่รอช้าที่จะพูดคุยถึงรายละเอียดเพิ่มเติมของเรื่องนี้

เตรียมขยาย ‘Common Illness’ เพิ่มอีก 15 อาการ 

สำหรับการขยายกลุ่มอาการนั้น ภก.ปรีชา อธิบายว่า ทางสภาเภสัชกรรมมีการเสนอเพิ่มราว 15 กลุ่มอาการ ไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ภายใต้โครงการ “16 กลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยรับยาได้ที่ร้านยา” หรือ “Common Illness” เพื่อให้ครอบคลุมอาการของประชาชนได้มากขึ้น เนื่องจากในการให้บริการที่ผ่านมา มีประชาชนบางส่วนที่มาด้วยอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ทว่าอาการดังกล่าวไม่ได้มีระบุไว้ใน Common Illness

“ประชาชนก็บอกว่าอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ทำไมถึงไม่ครอบคุลมเพื่อที่จะได้เข้าถึงง่าย และไม่ต้องไปหาหมอ เช่น คนไข้มาด้วยอาการปวดหัว ซึ่งเป็นอาการที่ระบุเอาไว้ใน 16 กลุ่มอาการ แต่ก็มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนที่ไม่ได้มีระบุไว้ในนั้น สภาฯ เองก็เลยเสนออาการเพิ่มเข้าไป ซึ่งก็อยู่ระหว่างรอ สปสช. พิจารณา”

สำหรับอาการที่ได้มีการเสนอให้เพิ่มเติมเข้ามานั้น ประกอบด้วย 1. ติดเชื้อโควิด-19 2. น้ำมูก คัดจมูก 3. แผลในปาก 4. เริมขึ้นที่บริเวณปาก 5. แผลน้ำร้อนลวกไม่รุนแรง 6. คันผิวหนัง และศีรษะ 7. พยาธิ 8. เห็บ เหา 9. ฝีหนองที่ผิวหนัง 10. อาการชา หรือเหน็บชา 11. นอนไม่หลับ 12. เมารถ เมาเรือ 13. เบื่ออาหารโดยที่ไม่มีโรคร่วม 14. คลื่นไส้ อาเจียน และ 15. แพ้ยา-อาหารเล็กน้อย รวมถึงแพ้แมลงกัดต่อย อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาว่าจะมีอาการที่ทับซ้อนกับของเดิมหรือไม่

ในส่วน 16 กลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยรับยาได้ที่ร้านยา ที่ได้ดำเนินการไปก่อนนี้ ประกอบด้วย 1. อาการปวดหัว เวียนหัว 2. ปวดข้อ 3. เจ็บกล้ามเนื้อ 4. ไข้ 5. ไอ 6. เจ็บคอ 7. ปวดท้อง ท้องเสีย 8. ถ่ายปัสสาวะขัด 9. ปัสสาวะลำบาก 10. ปัสสาวะเจ็บ 11. ตกขาวผิดปกติ 12. อาการทางผิวหนัง 13. ผื่น คัน 14. บาดแผล 15. ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา และ 16. ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู

ภก.ปรีชา ขยายความถึงการเพิ่มกลุ่มอาการว่า ส่วนหนึ่งได้มาจากเสียงของเภสัชกร โดยเฉพาะเสียงที่สะท้อนจากประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ เนื่องจากบางคนมาด้วยอาการที่แม้จะมีอยู่ใน 16 กลุ่มอาการแล้ว แต่ก็ร่วมด้วยกับอาการที่ยังไม่ได้ครอบคลุม ไม่ได้ระบุเอาไว้ ฉะนั้นจึงมองว่าด้วยอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยในลักษณะนี้น่าจะต้องทำให้เกิดความครอบคลุม

เมื่อขยายกลุ่ม ‘อาการ’ รายการ ‘ยา’ ก็ต้องเพิ่ม 

เมื่อมีการขยายกลุ่มอาการ แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือการขยายกรอบยา ซึ่ง ภก.ปรีชา บอกว่าโดยปกติของอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ร้านยาแต่ละแห่งจะมีการซื้อยาเองอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นอาการใหม่ หรือหากจำเป็นจะต้องสั่งยาพิเศษมาไว้ที่ร้าน ทางสภาฯ มีหน้าที่ให้แนวทางหรือกรอบในการดูแล แต่ถึงอย่างไรนั้น การที่ร้านยาจะเข้ามาให้บริการ Common Illness ได้ ก็จะต้องผ่านการรับรองให้เป็น ‘ร้านยาคุณภาพของฉัน’ รวมถึงเภสัชกรจะต้องผ่านการอบรมและได้รับประกาศนียบัตรด้วย

ขณะเดียวกันในการอบรมก็จะมีการแจ้งแนวทางในการดูแลอาการว่าจะต้องใช้ยาใด แต่โดยปกติเภสัชกรจะมีการให้ยาอย่างสมเหตุสมผลอยู่แล้ว เนื่องจากผู้ป่วยจะต้องได้รับยาที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไปจนไม่เห็นผล มากไปกว่านั้นเรื่องอัตราการจ่าย ทาง สปสช. จะเป็นผู้เข้ามาดูแลค่าบริการหลังบริการเสร็จ

นอกจากนี้ ภก.ปรีชา ยังอธิบายถึงขอบเขตการให้บริการของเภสัชกรว่า แต่ละวิชาชีพมีหน้าที่แตกต่างกัน ซึ่งเภสัชกรมีหน้าที่รักษาตามอาการโรค ไม่ได้วินิจฉัยโรค ในกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อยนั้น เมื่อมาที่ร้านยา เภสัชกรก็จะมีการดูแลติดตามอาการภายใน 3 วัน ถ้าดีขึ้นก็จะถือว่าปิดเคสได้ แต่ถ้าไม่ดีขึ้นก็สามารถกลับมารับยาตัวเดิมได้ แต่ถ้าทรุดลงก็จะมีการส่งตัวต่อไปที่โรงพยาบาลต่อไป

ร้านยาไม่ได้มีบทบาทเฉพาะ ‘Common Illness’

อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการขยายเพิ่มกลุ่มอาการให้ครอบคลุมนั้น ภก.ปรีชา มองว่ายังเป็นเพราะปัจจัย ‘ความสำเร็จ’ จากการดำเนินงานที่ผ่านมา เนื่องจากประชาชนมีอาการดีขึ้นโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะ สปสช. เป็นผู้ดูแลภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง หรือบัตร 30 บาท) และเมื่อวัดจากระดับความพึงพอใจของประชาชนที่เข้ามารับบริการ ส่วนมากจะอยู่ในระดับ ‘สูง’ และ ‘สูงมาก’

อย่างไรก็ตาม ทิศทางของร้านยาก็ยังไม่ได้หยุดอยู่แค่การเพิ่มบริการ Common Illness เท่านั้น แต่ยังมีการทำงานอยู่ด้วยกันอีก 3 โครงการ ประกอบด้วย 1. การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับร้านยาที่ผ่านมาตรฐาน GPP (Good Pharmacy Practice) เช่น การแจกยาคุมกำเนิดสำหรับหญิงให้นมบุตร การแจกยาคุมฉุกเฉิน ชุดตรวจการตั้งครรภ์ (หากพบว่าตั้งครรภ์ก็จะมีการจ่ายยาบำรุงครรภ์ร่วมด้วย) แจกถุงยางอนามัย ซึ่งทั้งหมดนี้ประชาชนสามารถข้าใช้บริการได้ทุกสิทธิการรักษา

2. บริการการคัดกรองโรค เช่น ในกรณีอายุต่ำกว่า 35 ปี จะมีการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง คำนวณค่าดัชนีมวลการ (BMI) เพื่อดูภาวะอ้วน รวมถึงการวัดความดัน คัดกรองสารเสพติด บุหรี่ ดูแลสุขภาพทั่วไป แต่ในขณะเดียวกันหากมีอายุเกิน 35 ปี นอกเหนือจาการตรวจเช็กอย่างที่กล่าวมานั้น ยังมีการตรวจวัดระดับน้ำตาล ดูความเสี่ยงที่จะเกิดกับหลอดเลือด และหัวใจ เป็นต้น

3. ลดความแออัดภายในโรงพยาบาล ซึ่งโครงการนี้จะสอดรับกับนโยบายของรัฐ ‘30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว’ โดยเมื่อประชาชนรับบริการแล้วมีอาการคงที่ และต้องสั่งยาต่อเนื่อง ก็สามารถตรวจสอบร้านยาใกล้บ้านเพื่อเข้ามารับยาตามเครือข่ายของแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์จะมีการสั่งใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Prescription) มาที่ร้านยา เป็นการลดความหนาแน่นที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล

“อย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะเริ่มก่อนในโซน 3 ที่มีโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่เป็นแม่ข่าย พร้อมกับศูนย์บริการสาธารณสุข และร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ”

เมื่อต้องการให้ประชาชนดูแลตัวเอง ‘Self-Test’ จึงสำคัญ 

ภก.ปรีชา ระบุว่า ขณะนี้เองมีความต้องการให้ประชาชนดูแลสุขภาพตัวเอง (Self-Care) ในทุกคนทุกสิทธิ แต่การที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงการดูแลตัวเองได้นั้น จะต้องมีการทำ ‘Self-Test’ ซึ่งสภาฯ และ สปสช. ก็ได้ทำงานร่วมกันมาแล้ว อย่างเช่น การแจกชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเอง (Antigen Test Kit : ATK)

ส่วนของขั้นต่อไป คือการแจกชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ‘HPV DNA Test’ โดยสามารถส่งสิ่งส่งตรวจกลับมาที่ร้านยา และร้านยาก็จะมีการบริหารจัดการส่งต่อไปยังห้องปฏิบัติการ (แล็บ) และแจ้งผลผ่านแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ เช่นเดียวกับการการแจกชุดตรวจหา HIV1/2

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการตรวจระยะเบื้องต้นสำหรับผู้ที่เป็นโรคไต เนื่องจากผู้ป่วยโรคไตจะมีโปรตีนโมเลกุลเล็กที่เรียกว่าไมโครอัลบูมิน (Microalbumin) และเมื่อไรก็ตามที่พบว่ามีไมโครอัลบูมินหลุดออกมา ตรงนี้ก็แสดงให้เห็นว่าไตเริ่มมีปัญหาด้วย

“รวมไปถึงการตรวจพยาธิใบไม้ตับด้วยปัสสาวะ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของคนไทยที่ทำขึ้นมา อยู่ในระหว่างขั้นตอนออกสู่ตลาด โดยการตรวจพยาธิใบไม้ในตับ ก็จะช่วยลดปัญหาการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีด้วย”

ภก.ปรีชา ยังทิ้งท้ายด้วยว่า ทางสภาฯ กำลังอยู่ระหว่างขยายและพัฒนาให้มีร้านยาคุณภาพเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อยได้ ที่สำคัญยังต้องการให้ครอบคลุมลงไปถึงในระดับอำเภอและพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนเขาถึงได้ ซึ่งในขณะนี้สภาฯ เองก็มีแอปฯ ‘ร้านยาของฉัน’ เพื่อให้ประชาชนสามารถค้นหาร้านยาใกล้ๆ หากต้องซื้อยาหรือพบเภสัชกรได้อีกด้วย

ในขณะที่ภาพรวมของการให้บริการ Common Illness นั้น ปัจจุบันมีร้านยาที่เข้าร่วมและผ่านการรับรองเป็นร้านยาคุณภาพของฉันแล้ว จำนวนประมาณ 1,838 แห่ง จากร้านยาทั้งหมดกว่า 2,000 แห่ง โดยในระหว่าง 1 ม.ค. 2565 - 31 ธ.ค. 2566 ได้มีการให้บริการประชาชนจากร้านยา GPP และร้านยาคุณภาพของฉันไปแล้วกว่า 3.1 ล้านคน หรือคิดเป็น 5.2 ล้านครั้งในการให้บริการ