ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอมานพ หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เผย ‘โครงการจีโนมิกส์ไทยแลนด์’ เก็บ DNA คนไทย 5 กลุ่มโรคใกล้ครบ 5 หมื่นคน เตรียมเดินหน้าต่อเฟส 2  แต่ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เดินหน้านโยบายให้จริงจัง หวั่นถ้าไม่ทำต่อ ฐานข้อมูลพันธุกรรมคนไทยจะเสียของ 


ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ขณะนี้แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย พ.ศ. 2563-2567 (Genomics Thailand) ที่ดำเนินการจัดเก็บ DNA ประชากรไทยที่เป็นอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวนเป้าหมาย 5 หมื่นรายใน 5 กลุ่มโรคที่พบบ่อย และเป็นโรคที่มาจากพันธุกรรมตั้งแต่ปี 2563 ใกล้จะจบระยะแรก (เฟส 1) แล้ว

เนื่องจากในตอนนี้สามารถเก็บตัวอย่าง DNA และถอดรหัสพันธุกรรมได้แล้วจำนวน 33,818 ราย โดยเก็บจากหน่วยบริการ และสถาบันการศึกษาทางการแพทย์ที่เข้าร่วมทั่วประเทศ ซึ่งที่ศิริราชพยาบาล ก็เก็บ DNA ไปทั้งหมดถึงเกือบ 8,000 รายด้วยกัน และคาดว่าภายใน 2567 จะเก็บได้ครบตามเป้าหมายที่ 5 หมื่นราย 

ศ.นพ.มานพ กล่าวต่อไปว่า เมื่อจบเฟสที่ 1 แล้ว ในระยะต่อไปหรือเฟสที่ 2 ของโครงการจีโนมิกส์ฯ  จำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้าบริหารประเทศ เพื่อขับเคลื่อนต่อ โดยเฉพาะในเรื่องของนโยบายแนวทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ และงบประมาณ ตลอดจนการตัดสินใจเชิงนโยบายสาธารณะในการนำฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมของคนไทยไปใช้ประโยชน์

เพราะปัจจุบันมีทั้งฐานข้อมูลทางพันธุกรรมของคนไทยใน 5 กลุ่มโรคสำคัญที่เสียชีวิตมากที่สุดอยู่ในโครงการจีโนมิกส์ฯ แล้ว และยังมีข้อมูลการวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งเทคโนโลยีการแพทย์ ประโยชน์ของผู้ป่วยในการรักษา และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเอาข้อมูลนี้ไปต่อยอดสู่การสนับสนุนให้เป็นนโยบายสุขภาพสาธารณะของคนทั้งประเทศ ให้ได้เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

นอกจากนี้ ในส่วนของคณะทำงานโครงการจีโนมิกส์ฯ เอง ก็ได้มีการพูดคุยในเบื้องต้นถึงเฟสที่ 2 แล้วด้วย โดยจะมุ่งเน้นทิศทางไปที่การขยายบริการสุขภาพจากฐานข้อมูลพันธุกรรมของคนไทยให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในส่วนของบริการการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ซึ่งจะครอบคลุมทั้ง 3 กองทุน (บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ) มากขึ้น โดยเฉพาะการตรวจมะเร็ง ที่น่าจะขยายการบริการไปสู่การตรวจคัดกรองมะเร็งด้านอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย 

ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า ภายหลังในเฟสแรกมีการผลักดันบริการตรวจการกลายพันธุ์ของยีนโรคมะเร็งเต้านม BRCA1/BRCA2 สำหรับกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง หรือมีความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมจากปัจจัยกรรมพันธุ์ ที่ญาติสายตรงในครอบครัวอาจมีประวัติเคยเป็นมะเร็ง หรือเคยตรวจพบยีนส์มะเร็ง เพื่อป้องกันการป่วยและลดการเสียชีวิต เข้าไปสู่ชุดสิทธิประโยชน์การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบบัตรทองแล้ว 

ทั้งนี้ หากรัฐบาลชุดใหม่ไม่สนับสนุนให้ทำต่อ และไม่ให้ความสำคัญของการแพทย์จีโนมิกส์ที่เป็นอนาคตทางการแพทย์ ก็อาจเสียโอกาสสำหรับพัฒนา และระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยก็จะย่ำอยู่กับที่ อาจถอยหลังด้วย ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการเข้าถึงได้เหมือนเดิม รวมถึงภาระการเงินการคลังด้านการดูแลสุขภาพของคนทั้งประเทศจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากจะทำให้ข้อมูล DNA ที่จัดเก็บมาไร้ความหมาย ทั้งที่เป็นข้อมูลรากฐานในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่เกิดขึ้นบ่อยเพื่อหาทางป้องกันได้สำหรับอนาคต