ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บีจีไอ จีโนมิกส์ (BGI Genomics) ผู้ให้บริการโซลูชันการแพทย์แม่นยำแบบบูรณาการชั้นนำระดับโลก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเซินเจิ้น ประเทศจีน ได้เผยแพร่รายงาน ‘สถานการณ์ความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่’ (State of Colorectal Cancer Awareness Report) ซึ่งสำรวจทัศนคติและความท้าทายเกี่ยวกับความตระหนักรู้และการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (CRC) ซึ่งนับเป็น ‘รายงานฉบับแรก’ ที่ดำเนินการสำรวจระดับโลกเกี่ยวกับโรคมะเร็งชนิดที่พบมากเป็นอันดับ 3 ของโลก อย่างโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

รายงานฉบับดังกล่าว มุ่งเน้นทำความเข้าใจสถานการณ์ความตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้มากขึ้น รวมถึงทัศนคติและการปฏิบัติในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สำหรับกลุ่มเสี่ยงโดยทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงโดยกรรมพันธุ์ โดยได้สำรวจความคิดเห็นผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,817 คนจาก 6 ประเทศและภูมิภาค ประกอบด้วย สหราชอาณาจักร (ยุโรปตะวันตก), ฮังการี (ยุโรปตะวันออก), ซาอุดีอาระเบีย (ตะวันออกกลางและแอฟริกา), ไทย (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) และจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง (เอเชียเหนือ)

1

ทั้งนี้ แม้ผู้ตอบแบบสอบถาม 51.5% รายงานว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่เพียงพอ และ 34.5% ระบุว่าเหตุผลด้านต้นทุนทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในขณะเดียวกันรายงานยังเผยให้เห็นข้อค้นพบเชิงบวกหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น 88.8% รู้สึกอยากไปเข้ารับการตรวจคัดกรองมากขึ้น เมื่อทราบว่าการตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่เนิ่นๆ มีอัตราการอยู่รอดระยะเวลา 5 ปีถึง 90%

“การตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่แรกเริ่มมอบผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับบุคคลและนโยบายบริการสุขภาพ บางครั้งราคาของการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะท้ายสูงกว่าในระยะแรกเริ่มมากกว่าสิบเท่า แต่มีอัตราการอยู่รอดต่ำกว่ามาก” ดร. หยานเต๋า หลี่ (Yantao Li) ผู้อำนวยการฝ่ายการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของบีจีไอ จีโนมิกส์ ระบุ

ด้วยเหตุนี้หลายประเทศหรือภูมิภาคจึงสนับสนุนการตรวจคัดกรองตั้งแต่แรกเริ่ม ตัวอย่างเช่น ขณะนี้คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) กำลังเร่งเพิ่มการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

ข้อค้นพบสำคัญอื่นๆ จากรายงานนี้ มีดังนี้

2

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เป็นการตรวจคัดกรองที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด แต่ยังมีแง่มุมที่สามารถยกระดับความตระหนักรู้เกี่ยวกับการตรวจประเภทอื่นๆ เช่น การตรวจอุจจาระ แม้การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (68.2%) จะเป็นการตรวจคัดกรองที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด แต่ก็มีราคาสูงกว่าและยุ่งยากกว่าเมื่อเทียบกับการตรวจอุจจาระ ซึ่งเป็นที่รู้จักน้อยกว่าด้วยสัดส่วน 49.5% จึงจำเป็นต้องเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับการตรวจอุจจาระ เพื่อส่งเสริมตัวเลือกนี้ซึ่งมีราคาที่เข้าถึงได้มากกว่าและยืดหยุ่นกว่า

แพทย์เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับผู้ตอบแบบสอบถามในการเข้ารับการตรวจเข้ากรองหากไม่มีอาการ โดย 62.5% จะฟังคำแนะนำของแพทย์ให้ไปเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นที่แพทย์จะต้องตระหนักเกี่ยวกับอาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น ถามคำถามที่เหมาะสมเพื่อระบุความเสี่ยงทางกรรมพันธุ์ที่มีแนวโน้ม และเสนอตัวเลือกการตรวจคัดกรองประเภทต่าง ๆ ให้กับผู้ป่วย เพื่อให้สอดรับกับวิถีชีวิตและงบประมาณที่ต่างกัน ในความเห็นของเรา การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ดีที่สุดคือการตรวจที่ผู้ป่วยจะเข้ารับ

ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นต่างกัน เมื่อถามเกี่ยวกับการนำสมาชิกในครอบครัวไปเข้ารับการตรวจคัดกรอง โดย 55.7% ทราบว่าประวัติการป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัวเพิ่มความเสี่ยงของตัวพวกเขาเอง แนวปฏิบัติของเครือข่ายมะเร็งครบวงจรแห่งชาติ (National Comprehensive Cancer Network หรือ NCCN) ชี้ว่า สมาชิกในครอบครัวเหล่านี้ควรเริ่มตรวจคัดกรองเมื่ออายุ 40 ปี หรือ 10 ปีก่อนการวินิจฉัยพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัวเป็นครั้งแรก ข่าวดีคือ 67.2% ของผู้ที่เคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมีประวัติการป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัวเคยพาสมาชิกในครอบครัวไปเข้ารับการตรวจคัดกรอง แต่ในภาพรวมแล้ว มีเพียง 31.2% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดเคยพาสมาชิกในครอบครัวไปเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่