ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

'หมอฉันชาย' เผย แพทยศาสตร์ จุฬาฯ จับมือ สปสช. คัดกรองผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทองเข้ารักษาด้วยเครื่องฉายแสงโปรตอนที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงรักษาราคาแพง 


นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ "The Coverage" ว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อดำเนินโครงการให้ผู้ป่วยมะเร็งสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง 30 บาท) ได้เข้าถึงการรักษามะเร็งด้วยเครื่องฉายรังสีอนุภาคโปรตอน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นำเข้ามา และยังเป็นเครื่องฉายแสงโปรตอนเครื่องแรกของประเทศไทย และของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

นพ.ฉันชาย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะเริ่มในปี 2567 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพูดคุยในรายละเอียดอีกเล็กน้อยกับ สปสช. ในการขับเคลื่อนให้เป็นโครงการระยะยาวเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดย สปสช. อาจจัดงบประมาณสำหรับการรักษาผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับโรงเรียนแพทย์ที่เข้าร่วมเป็นรายปี และส่งผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเข้ามารักษาตามจำนวนเคสที่ตกลงกัน 

“ที่ผ่านมาการรับการรักษาด้วยเครื่องดังกล่าวผู้ป่วยจะต้องชำระค่าใช้จ่ายเอง เพราะยังไม่สามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์กับกองทุนสุขภาพกองทุนไหนได้ ซึ่งโรงพยาบาลจุฬาฯ มองว่า การมีเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึง ถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์ที่ยังไม่คุ้มค่า จึงประสานกับ สปสช. เพื่อทำข้อตกลงร่วมกัน โดย สปสช. จะคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยเครื่องฉายรังสีอนุภาคโปรตอน และให้โรงพยาบาลจุฬาฯ เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาทกับ สปสช.“ นพ.ฉันชาย ระบุ

ทั้งนี้ จากโครงการความร่วมมือในครั้งนี้ คาดดว่าจะทำให้ภาพรวมของการเข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงของผู้ป่วยสิทธิบัตรทองมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเข้าถึงการรักษาราคาแพงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ที่สำคัญยังทำให้โรงเรียนแพทย์ได้ใช้ความรู้ความสามารถ และเครื่องมือที่มีในการช่วยเหลือประชาชนที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจริงๆ 

"ต้องบอกก่อนว่า เครื่องฉายรังสีอนุภาคโปรตอนใช้ไม่ได้กับทุกมะเร็ง แต่จะได้ผลดีกับมะเร็งบางชนิด และเหมาะสมกับการรักษามะเร็งในเด็ก เพราะเครื่องสามารถฉายรังสีไปยังจุดเล็กๆ ทำให้สามารถฉายรังสีได้จากทุกมุมโดยไม่ต้องปรับตำแหน่งของผู้ป่วย และยังสามารถตรวจสอบตำแหน่งของก้อนมะเร็งและอวัยวะข้างเคียง ซึ่งเครื่องฉายรังสีทั่วไปไม่สามารถเข้าไปจัดการได้" นพ.ฉันชาย กล่าวตอนท้าย