ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“แม้โรงพยาบาลจะมีป้ายห้ามนอนติดกำกับเอาไว้ แต่สถานการณ์จริงยังพบว่า มีผู้ป่วยราว 120 คนต่อคืน นอนกระจายกันอยู่ตามพื้นที่ของโรงพยาบาล”

คำกล่าวเบื้องต้นเป็นสิ่งที่ นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์เชี่ยวชาญระดับสูง สาขามะเร็ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี อธิบายให้ “The Coverage” ฟัง ถึงสถานการณ์ที่โรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะโรงพยาบาลประจำจังหวัดส่วนใหญ่ ต้องพานพบ 

ถ้าถามว่าเหตุใดผู้ป่วยจำนวนกว่า 100 คน ต้องหอบตะกร้า หิ้วกระสอบมาใช้รองหลังนอนยามค่ำคืน? คำตอบคือ พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีเงินค่าที่พัก

1

หากพูดให้สุด พวกเขาต้องเข้าได้รับการรักษา หรือติดตามอาการอยู่ทุกวัน แต่พวกเขา ‘ไม่มีงบมากพอ’ ที่จะอาศัยห้องพักรายวันเพื่อขับความเหนื่อยล้า และร่างกายเขาก็ไม่ไหวที่จะตื่นตั้งแต่ตี 3 เพื่อนั่งรถข้ามจังหวัดเข้ามาในกรณีที่อยู่ห่างไกล 

โรงพยาบาลพระปกเกล้าไม่ใช่ที่แรกที่จะต้องเจอสถานการณ์แบบนี้ แต่กระนั่นเมื่อพบแล้วว่ามีปัญหา ‘นพ.ภาสกร’ และทีมงาน จึงอยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ผู้ป่วยที่ไม่มีเศรษฐฐานะเพียงพอ ได้มีที่พักอาศัยระหว่างเข้ารับการรักษา 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องทำการฉายแสงทันทีหลังจากการผ่าตัด รวมถึงผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อมารักษา ณ โรงพยาบาลพระปกเกล้าด้วย (เพราะเป็นโรงพยายาลศูนย์ที่รับส่งต่อ และมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็ง) 

แล้วนั่นเอง ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ‘บ้านแสงจันท์’ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น จากการเอาจริงเอาจังของบุคลากร และผู้บริหารโรงพยาบาล ภายหลังมีการเตรียมการ รวมถึงดูงานในที่ต่างๆ เช่น บ้านพักสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเด็ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ภายใต้มูลนิธิแมคโดนัลด์ หรืออาคารเย็นศิระ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ภายใต้มูลนิธิสงขลานครินทร์ ตั้งแต่ปี 2562 

ทว่า การสร้างบ้านพักสำหรับผู้ป่วยในลักษณะนี้ย่อมไม่ใช่ ‘ภารกิจหลัก’ ของโรงพยาบาล หรือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นั่นจึงไม่เคยมีต้นแบบ หรืองบประมาณส่วนนี้ (เว้นแต่การสร้างตึก หรือหอผู้ป่วยของโรงพยาบาล)

4

สิ่งที่ทำให้ ‘บ้านแสงจันท์’ เป็นรูปเป็นร่างจนสามารถเปิดบริการได้นั้น จึงมาจากการ ‘บริจาค’ และ ‘ระดมทุน’ ล้วนๆ ซึ่งทีมงานสามารถระดมทุนได้กว่า 40 ล้านบาท

นอกเหนือจากการร่วมแรงลงใจของบุคลากรในโรงพยาบาลก็ยังได้ ‘แพท วงเคลียร์’ ศิลปินที่ฝากผลงานเพลงไว้มากมาย ในฐานะสถาปนิก เข้ามาช่วยระดมทุน และนำทีมงาน 30 ชีวิต เข้ามาร่วมออกแบบบ้านแสงจันท์นี้ด้วย 

การมีอยู่ของ ‘บ้านแสงจันท์’ ทำให้ผู้ป่วยหลายคนได้เข้าถึงการ ‘รักษา และติดตามอาการ’ และยังสามารถทำให้ผู้ป่วย ‘ไม่จำนนกับการรักษา’ เพียงพอไม่มีเงินจ่ายค่าใช้จ่ายแฝง 

บ้านแสงจันท์ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าพัก ไม่มีจำกัดระยะเวลาการครองเตียง หากแพทย์ลงความเห็นแล้วว่าจำเป็นก็สามารถอยู่ได้จนกว่าจะจบ

ขณะเดียวกัน หากมองภาพการให้บริการบ้านพักผู้ป่วยลักษณะนี้ของทั้ง 13 เขตสุขภาพ พบว่ามีเพียงเขตสุขภาพละ 1-2 ที่ เท่านั้น และเมื่อมองในเขตสุขภาพที่ 6 ภาคตะวันออก มีเพียง ‘บ้านแสงจันท์’ ที่เดียวที่ให้บริการฟรี

“จากการสำรวจผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการบ้านแสงจันท์ พบว่าบางรายต้องหาเงินให้ได้กว่าเดือนละ 1.5 หมื่นบาทเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการหาที่พักระหว่างการรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งที่มีระยะเวลาในการฉายแสง 6 สัปดาห์หลังจากการผ่าตัด บางคนหายจากการรักษาไป 4 เดือนหลังจากการผ่าตัด ทั้งๆ ที่ต้องเริ่มฉายแสงในวันรุ่งขึ้น และกลับมาพร้อมกับโรคที่เป็นมากขึ้น” 

1

“ย้อนกับไปก่อนมีบ้านแสงจันท์ จากการสำรวจ มีคนไข้ราว 250 คนจากผู้ป่วยที่จะต้องฉายแสง 1,000 คนต่อปี ถอดใจไม่รักษา ทั้งๆ มีสิทธิเข้าถึงการรักษา แต่เขาไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายแฝงที่มาพร้อมกันได้” นพ.ภาสกร ระบุ

เมื่อมองลึกไปถึงที่มาของเงินเหล่านั้นพบว่าเป็นสัดส่วนจากการ ‘กู้ยืม’ ไม่ว่าจะญาติ หรือเจ้าหนี้นอกระบบมากกว่าเงินเก็บของผู้ป่วยเองเสียอีก ซ้ำร้ายบางคนต้องใช้เวลา 4 เดือนไปจนถึง 1-2 ปีในการหาเงินที่หยิบยืมมาคืนให้แก่เจ้าหนี้ โดยที่ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าโรคที่เขาเป็นอยู่นั้น จะหายสนิท หรือจะกลับมาเป็นอีก 

ขณะเดียวกัน ตลอดเวลากว่าปีครึ่งที่เปิดให้บริการ บ้านแสงจันท์ช่วยเหลือผู้ป่วยไปแล้ว 2,146 ราย 10,908 วันนอน หากคิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ช่วยผู้ป่วย อ้างอิงจากราคาที่พักบริเวณใกล้เคียงโรงพยาบาลเฉลี่ย 450 บาท ก็เท่ากับว่าบ้านแสงจันท์สามารถช่วยให้ผู้ป่วยประหยัดเงินได้รวมๆ แล้วก็กว่า 4.9 ล้านบาท

4

ทว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดกับบ้านแสงจันท์ ทั้งค่าบำรุง ค่าสาธารณูปโภคอย่างค่าน้ำ ค่าไฟ ค่างจ้างบุคลากรที่รวมๆ แล้วตกอยู่เดือนละ 6 หมื่นกว่าบาท ยังต้องใช้เป็น ‘เงินบริจาค’ ทั้งหมด และไม่สามารถเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้

“ค่าที่พัก ค่าเดินทางอะไรแบบนี้เป็นค่าใช้จ่ายแฝงที่มองไม่เห็น หมายความว่าทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม หรือกรมบัญชีกลาง (ข้าราชการ) ก็ยังมองไม่เห็น” 

นพ.ภาสกร อธิบายว่า จุดประสงค์หลักของทั้ง 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง หรือบัตร 30 บาท) กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ มีขึ้นเพื่อให้ ‘คนหายจากโรค’ 

ฉะนั้นส่วนตัวจึงอยากจะให้กองทุนทั้ง 3 กองทุน มีงบประมาณแยกต่างหากสำหรับการให้บริการในลักษณะนี้ หากดูตัวเลขที่ใช้ในแต่ละวันอยู่ประมาณ 160 บาท หากมีผู้เข้ารับบริการมากกว่านี้ราคาก็อาจจะถูกลง และส่งผลให้ผู้ป่วยที่ตั้งใจจะรักษาตามจุดประสงค์หลักของแต่ละกองทุนให้หายขาด สามารถทำได้ เพราะหากมองความเป็นจริงไม่ใช่ทุกคนที่จะใช้บริการ เว้นเสียแต่เขาไม่มีจริงๆ 

1

“เงินหมื่นสำหรับบางคนหาได้ไม่ยาก แต่สำหรับบางคนเงินหมื่นคือเงินทั้งชีวิตของเขา” 

สิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้นในอนาคต คืออยากผลักดันเข้าสู่ระบบการเบิกจ่ายของทั้ง 3 กองทุน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน เพราะสิ่งที่ทำพิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์ต่อผู้ป่วยและญาติอย่างชัดเจน โดยอาจจะผ่านระบบสังคมสงเคราะห์ที่ทุกโรงพยาบาลมีอยู่แล้ว ให้ช่วยคัดกรอง หรือตรวจสอบได้ 

นอกเหนือจากการให้ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพเข้ามาสนับสนุน นพ.ภาสกร ยังบอกว่าอีกว่า ‘อยากให้ส่วนกลาง’ เขียนระเบียบให้ชัดเจนขึ้น ว่าเงินที่โรงพยาบาลได้จากการให้บริการสามารถนำไปใช้อะไรได้บ้าง เพราะตามปกติแล้วหน่วยงานภาครัฐ หากไม่ได้มีการระบุไว้อย่างแน่ชัด ก็จะไม่กล้าให้เบิก 

“ที่ผ่านมาก็เคยมีการเสนอเรื่องการสร้างบ้านพักในโรงพยาบาล หรือการผลักดันให้สามารถเบิกจ่ายได้อย่างไม่เป็นทางการกับพรรคการเมืองต่างๆ ที่เข้ามาถามไถ่ปัญหาในพื้นที่อยู่บ้าง เพราะเราก็พิสูจน์แล้วว่าเป็นปัญหาของผู้ป่วย แต่จริงๆ คิดว่าให้เบิกได้ในภาพของกองทุน ส่วนตัวว่าก็เกิดขึ้นได้แล้ว” 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่บ้านแสงจันท์ทำไม่ใช่แค่การช่วยเหลือผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังช่วยเหลือสังคมรอบข้างด้วย และไม่ได้รักษาแค่เพียงผู้ป่วยมะเร็งอย่างเดียว เพราะที่ผ่านมาก็มีผู้ป่วยผ่าตัดตา หรือหูที่ต้องอาศัยการติดตามอาการเข้ามาใช้บริการด้วยเช่นกัน

ฉะนั้นจึงมองว่าบ้านแสงจันท์เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และเป็นสิ่งที่ผู้ป่วย และญาติเกือบทุกพื้นที่ในประเทศไทย ‘เคยมี’ จุดร่วมแบบเดียวกัน