ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หน่วย 50(5) จ.ยโสธร ชูกลยุทธ์สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับหน่วยบริการ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาร้องเรียนและร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาเชิงระบบ ควบคู่ไปกับการสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิและหน้าที่ของประชาชน


นายทองหล่อ ขวัญทอง ผู้ประสานงานหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ยโสธร เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินงานของหน่วย 50(5) จ.ยโสธรว่า เน้นไปที่การสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยบริการ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาการร้องเรียนต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงบริการในเชิงระบบ ขณะเดียวกัน ก็ดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างการตระหนักรู้เรื่องสิทธิและหน้าที่แก่ประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง โดยมุ่งหวังว่าจะเกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและทำให้ระบบสุขภาพเข้มแข็งในระยะยาว

นายทองหล่อ กล่าวว่า การทำงานคุ้มครองสิทธิของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพนั้น ลำพังถ้าทำงานเชิงรับ การเชื่อมร้อยสร้างเครือข่ายการทำงานคุ้มครองสิทธิจะอยู่คนละที่คนละส่วน ประชาชนแทนที่จะได้รับการคุ้มครองสิทธิ กลับจะเป็นการสร้างปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการ การประสานให้เกิดความเข้าใจกันระหว่างหน่วย 50(5) กับหน่วยบริการก็จะเป็นการประสานคนละมุมกับผู้รับบริการซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาได้

1

ด้วยเหตุนี้ หน่วย 50(5) จ.ยโสธร จึงวางแผนว่าต้องทำงานเชิงรุกในการสร้างภาคีเครือข่าย โดยเข้าไปสร้างสัมพันธ์อันดีกับหน่วยบริการ ซึ่งในแต่ละหน่วยบริการจะมีกลุ่มงานประกันสุขภาพ มีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงอยู่แล้ว ทางหน่วย 50(5) กำหนดแผนงานนำคณะกรรมการของหน่วยฯ เข้าไปทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับหน่วยบริการ “ถือเป็นภารกิจสำคัญอันดับ 1 ในการสร้างเครือข่าย เราตั้งเป้าเข้าไปทำความรู้จักสร้างความสัมพันธ์ปีละ 2 หน่วยบริการ จนปี 2565 ก็สามารถเชื่อมร้อยเครือข่ายได้ครบทั้ง 9 หน่วยบริการในจังหวัดยโสธร” นายทองหล่อ กล่าว

ทั้งนี้ ในขั้นตอนการทำความรู้จักสร้างความสัมพันธ์กัน ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างระบบมาตรฐาน ระบบคุณภาพ เช่น นำข้อมูลประเด็นปัญหาการรับบริการมากพูดคุยและหาแนวทางป้องกันในอนาคต เพื่อเป็นการป้องกันเชิงระบบ ไม่ใช่แก้ปัญหาทีละเคส ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือทำให้โรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลรู้จักบทบาทหน้าที่ของหน่วย 50(5) รู้จักคนทำงาน และมีความคิดเชิงบวกกับหน่วย 50(5)

2

นอกจากนี้แล้ว ผลลัพธ์อีกประการคือการกระตุ้นสร้างความตระหนักรู้ในการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้สิทธิบัตรทองในหน่วยบริการ เช่น กรณีเกิดเหตุสุดวิสัยจนเกิดความเสียหายแก่ผู้รับบริการ หน่วยบริการจะดำเนินการช่วยเหลือ ยื่นขอรับเงินเยียวยาเบื้องต้นให้เลยโดยที่ไม่ต้องรอให้ผู้เสียหายร้องเรียนก่อน ทำให้ในระยะหลังมีการร้องเรียนต่างๆ ลดลง ไม่มากเหมือนเมื่อหลายปีก่อน

ทั้งนี้ นอกจากการสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยบริการแล้ว อีกส่วนหนึ่ง หน่วย 50(5) จ.ยโสธร ก็จัดเวทีสร้างการเรียนรู้แก่ประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ ให้รู้ถึงสิทธิและหน้าที่ที่ตนเองมีอยู่ในระบบบัตรทอง ถือเป็นการพัฒนาระบบแบบคู่ขนาน ทั้งตัวระบบบริการ และการตระหนักรับรู้เรื่องสิทธิของประชาชน

3

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในอนาคต มีแผนพัฒนาเครือข่ายใน อ.เมืองยโสธร เพื่อยกระดับขึ้นเป็นหน่วย 50(5) อีกแห่งหนึ่ง เนื่องจากเดิมทั้งจังหวัดมีหน่วย 50(5) เพียงหน่วยเดียว ทำให้การเข้าถึงของประชาชนยังไม่สะดวก นอกจากนี้ ในปีนี้ยังมีแผนสร้างกลไกระดับตำบลจำนวน 11 ตำบล โดยหวังว่าตัวแทนระดับตำบลเหล่านี้จะพัฒนาศักยภาพขึ้นมาเป็นกรรมการในกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ซึ่งจะเป็นโอกาสที่จะเกิดการมีส่วนร่วม เกิดเรียนรู้ที่จะนำปัญหาสุขภาพในพื้นที่มาพัฒนาโครงการโดยใช้งบจาก กปท. เพื่อแก้ปัญหานั้นๆ ได้

“นี่คือสิ่งที่เราคาดหวัง แม้เราจะไม่ได้พัฒนาโรงพยาบาล พัฒนาแพทย์หรือพยาบาลโดยตรง แต่เราพัฒนาภาคประชาชนให้เข้มแข็ง มีความรู้ความเข้าใจ มีส่วนร่วมมากขึ้น ระบบสุขภาพก็จะเข้มแข็งมากขึ้นตามไปด้วย” นายทองหล่อ กล่าว