ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ 50(5) นครพนม ทำงานเชิงรุกแก้ปัญหาร้องเรียนสิทธิบัตรทองในพื้นที่ ลุยย้ายสิทธิให้ประชาชน คนพิการ เผยสิทธิไม่ตรงที่อยู่อาศัย บวกกับหน่วยบริการไม่ชัดเจน  ส่งผลประชาชนไปรักษาพยาบาลต้องจ่ายเงินเอง ด้าน สปสช. ย้ำ มี 3 เรื่องที่บัตรทองยังทำไม่ได้ นอกนั้นเป็นสิทธิประโยชน์เกือบทั้งหมด ชี้การย้ายสิทธิบัตรทองทำได้ง่ายแล้วในปัจจุบัน 


ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จาก สปสช.เขต 8 อุดรธานี ลงพื้นที่เยี่ยมหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50 (5) อ.เมือง จ.นครพนม ซึ่งเป็นการทำงานที่เชื่อมกับสมาคมคนพิการจังหวัดนครพนมด้วย โดยมีนายวันชัย นักบุญ ประธานหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ 50(5) อ.เมือง จ.นครพนม พร้อมด้วย คณะกรรมการหน่วยรับเรื่องร้องเรียน ประกอบด้วย เครือข่ายคนพิการทางการเคลื่อนไหว ที่มีสมาชิกครอบคลุม 12 อำเภอ รวมถึงเครือข่ายผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม และหน่วยบริการในพื้นที่ จำนวน 50 คน ให้การต้อนรับ 

ทั้งนี้ การลงพื้นที่ดังกล่าวของ สปสช. มีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนผลการดำเนินงานคุ้มครองสิทธิให้กับประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพ หรือสิทธิบัตรทอง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์จากกรณีใช้บริการสิทธิบัตรทองแล้วเจอปัญหาไม่ได้รับบริการตามาตรฐาน หรือไม่ได้รับความสะดวก รวมไปถึงการถูกหน่วยบริการเรียกเก็บเงินโดยไม่มีสิทธิเก็บในพื้นที่ อ.เมือง จ.นครพนม 

2

สำหรับหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ 50(5) อ.เมือง จ.นครพนม มีบทบาท 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.รับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหา 2.คุ้มครองสิทธิประชาชน สร้างการรับรู้ให้ประชาชนรับรู้สิทธิ และใช้สิทธิบัตรทองอย่างถูกต้อง และ 3.ร่วมเป็นคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) จัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับตำบลจำนวน 103 แห่งในพื้นที่จังหวัดนครพนม  

นายวันชัย นักบุญ ประธานคณะกรรมการหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ 50(5) อ.เมือง จ.นครพนมและเครือข่ายผู้สูงอายุ กล่าวว่า ในพื้นที่ อ.เมือง จ.นครพนม ยังมีปัญหาประชาชนถูกเรียกเก็บเงินค่าบริการอยู่เรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของหน่วยงานใด หรือของใคร เพียงแต่อาจจะยังไม่เข้าใจการใช้สิทธิบัตรทอง รวมถึงหน่วยบริการด้วยเช่นกันที่ยังไม่ชัดเจนถึงการให้บริการประชาชนในสิทธิบัตรทองสำหรับการรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ 

4

ทั้งนี้ จึงอยากเสนอให้แก้ไขเชิงนโยบายควบคู่กับการทำงาน โดยที่ สปสช.เขต 8 ร่วมกับ หน่วยบริการรัฐ หน่วยบริการรัฐนอกสังกัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดตั้งกองทุน แก้ไขปัญหา Extra Billing หรือเป็นการจัดการค่ารักษาพยาบาล ค่ายานอกบัญชียาหลัก รวมถึงสิทธิไม่ตรงกับที่อยู่อาศัย รวมถึงปัญหาด้านอื่นๆ เพื่อให้หน่วยบริการทุกแห่งในพื้นที่ สปสช.เขต 8 ไม่เก็บเงินเพิ่มจากผู้ป่วยในทุกกรณี  

นางรุจิรา สิทธิกานต์ รองประธานคณะกรรมการหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ 50(5) อ.เมือง  ลจ.นครพนม กล่าวว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ 50(5) เป็นรูปแบบกลไกภาคประชาชน ซึ่งทำงานด้วยใจรัก และส่วนใหญ่เป็นจิตอาสา แต่ทั้งนี้ อยากเสนอให้มีการขยายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนและคุ้มครองสิทธิให้ครอบคลุมระดับตำบล /หมู่บ้านเพิ่มขึ้น และให้มีส่วนร่วมบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ซึ่งจะช่วยให้สร้างการรับรู้สิทธิบัตรทองกับประชาชนให้กระจายไปทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล 

3

ด้าน น.ส.พิมพ์มาดา สุริยาราช คณะกรรมการหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ 50(5) อ.เมือง จ.นครพนม และยังเป็นผู้แทนเครือข่ายคนพิการ จ.นครพนม กล่าวด้วยว่า ในปี 2566 ได้รณรงค์ให้ความรู้เรื่องสิทธิ การตรวจสอบสิทธิ และการย้ายสิทธิผ่านแอปพลิเคชันของ สปสช.กับประชาชนสิทธิบัตรทอง และคนพิการที่ใช้สิทธิบัตรทองด้วย และพบปัญหาส่วนใหญ่คือประชาชนสิทธิการรักษาไม่อยู่ในพื้นที่ เนื่องจากต้องไปทำงานต่างจังหวัด หรือต่างพื้นที่ และเมื่อกลับมาแล้วยังไม่ได้ย้ายสิทธิการรักษากลับมาด้วย ส่งผลให้เกิดการเข้าใจผิดระหว่างหน่วยบริการ ที่เมื่อเจ็บป่วยแต่ไม่ฉุกเฉินและไปทำการรักษา จะต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งหน่วยได้ประสานแก้ไข และย้ายสิทธิบัตรทองให้กับประชาชน รวมถึงคนพิการด้วย 

“ปัจจุบันการย้ายสิทธิทำได้ง่าย และใช้สิทธิรักษาได้ทันทีไม่ต้องรอ ทำให้สะดวกมากขึ้นต่อประชาชน อีกทั้ง ยังมีผลประโยชน์โดยตรงต่อจังหวัด ที่หน่วยบริการได้งบเหมาจ่ายรายหัวของ สปสช.ลงในพื้นที่ เพื่อนำมาส่งเสริมป้องกันโรค และดูแลประชาชนได้มากขึ้น” น.ส.พิมพ์มาดา กล่าว 

3

ขณะที่ ทพ.อรรถพร สปสช. กล่าวว่า ชื่นชมความเข้มแข็งขององค์กรเครือข่ายที่มีใจรักของเครือข่ายคนพิการและเครือข่ายผู้สูงอายุในจังหวัดนครพนม ที่ต้องการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะการเพิ่มการเข้าถึงบริการ โดยทำให้ประชาชนมีความเข้าใจ และรู้เรื่องสิทธิของตนเอง อีกทั้ง ยังแก้ปัญหาเมื่อสิทธิไม่ตรงกับที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ เมื่อไปรับบริการก็จะลดปัญหาเรื่องร้องเรียนและความไม่สะดวกต่างๆ ได้   
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเรียกเก็บเงินจากประชาชนสิทธิบัตทองไม่ควรเกิดขึ้น แต่ที่มีปัญหาเพราะอาจเกิดจากความไม่เข้าใจของระบบ และโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการอาจยังไม่รับทราบข้อมูลสิทธิประโยชน์ของบัตรทองว่าครอบคลุมเรื่องใดบ้าง ทั้งนี้ สิทธิสิทธิประโยชน์ของบัตรทองครอบคลุมเกือบทุกด้านแล้วในปัจจุบัน รวมถึงครอบคลุมการส่งเสริมป้องกันโรคด้วย 

“หากบอกว่าบัตรทองทำอะไรได้บ้าง อาจจะต้องพูดกันยาว เพราะสิทธิประโยชน์เยอะอย่างมาก แต่หากบอกว่าบัตรทองทำอะไรไม่ได้บ้าง จะพูดได้ง่ายกว่า เพราะมีแค่ 4 เรื่อง คือ 1.บริการเพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ 2.การตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ 3.การรักษาที่อยู่ระหว่างการค้นคว้าทดลอง และ 4.การปลูกถ่ายอวัยวะที่ไม่ปรากฎตามบัญชีแนบท้าย” ทพ.อรรถพร กล่าว 

ทั้งนี้ ในช่วงบ่าย คณะ สปสช. และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ 50(5) อ.เมือง จ.นครพนม ยังได้ลงพื้นที่ดูการเปลี่ยนสถานพยาบาลประจำตัวของประชาชนสิทธิบัตรทองที่เป็นคนพิการ ซึ่งได้รับอุบัติเหตุจากการทำงานที่ต่างจังหวัด และกลับมายังภูมิลำเนาที่ จ.นครพนม โดยเป็นการย้ายสิทธิการรักษาผ่านแอปพลิเคชัน สปสช. ซึ่งเมื่อดำเนินการเปลี่ยนสถานพยาบาลประจำตัวแล้วก็สามารถใช้บริการได้ทันที ไม่ต้องรอระยะเวลา 15 วันเหมือนที่ผ่านมา 

2

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw