ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) จ.เลย เผยแนวทางการทำงาน ใช้กลยุทธ์เชื่อมประสานกับสมัชชาสุขภาพ ทำให้มีเครือข่ายช่วยสอดส่องดูแลปัญหาร้องทุกข์ร้องเรียนในพื้นที่ พร้อมใช้กลไก Facebook ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้บทบาทภารกิจหน่วย 50(5) แก่ประชาชน


นายวรกฤต โยทองยศ ประธานหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) จ.เลย กล่าวถึงแนวทางการทำงานของหน่วย 50(5) จ.เลยว่า เน้นการทำงานร่วมกับเครือข่ายเพื่อให้เครือข่ายช่วยเป็นหูเป็นตาในการแจ้งกรณีร้องทุกข์ร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ขณะเดียวกันก็มีจุดยืนเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ไม่ใช่การทำงานเพื่อจับผิดโรงพยาบาล

นายวรกฤต กล่าวว่า ในส่วนของการสร้างเครือข่ายนั้น นอกจากการทำงานในบทบาทของหน่วย 50(5) แล้ว ตนยังทำงานในสมัชชาสุขภาพ จ.เลย ด้วย จึงมีการทำงานเชื่อมกับสมัชชาฯอยู่ตลอด ทำให้มีเครือข่ายที่กว้างขวางในพื้นที่ ช่วยดูแลเป็นหูเป็นตาให้

ขณะเดียวกัน หน่วย 50(5) เองก็มีตัวแทนอยู่ใน 7 อำเภอ ที่คอยรับเรื่องร้องเรียนและให้ความรู้แก่ชุมชนเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ซึ่งตัวแทนในแต่ละพื้นที่มีการพัฒนาการทำงานอย่างเข้มแข็งจนพื้นที่พัฒนาขึ้นเป็นศูนย์ประชาชนประจำอำเภอ/ตำบล เช่น ที่ อ.เอราวัน อ.ภูกระดึง และ อ.วังสะพุงก็อยู่ระหว่างการพูดคุย เป็นต้น

1

“เราพยายามแนะนำให้ความรู้กับเครือข่ายตลอด เช่น การจัดประชุมตัวแทนหน่วย 50(5) เพื่ออบรมแนวทางการรับเรื่องร้องเรียน การเขียนโครงการของบจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ หรือคอยส่งข่าวสารให้ข้อมูลความรู้แก่ภาคีเครือข่ายด้วย เช่น เวลา สปสช. จัดประชุมให้ความรู้ประจำเดือนผ่าน Zoom ก็จะเชิญชวนเพื่อนๆที่อยู่ในเครือข่ายสมัชชาสุขภาพเข้าไปร่วมฟังด้วย หรือเวลาออกไปทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายอื่นๆ ก็จะพยายามแนะนำบทบาทของหน่วย 50(5) บางครั้งในวงประชุมมีประเด็นที่เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น ฉีดวัคซีนแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ ก็จะเสนอตัวว่าเราทำเรื่องนี้อยู่ ก็ทำให้คนรู้จักช่องทางในการช่วยเหลือประชาชนมากขึ้น” นายวรกฤต กล่าว

ขณะที่ในส่วนของการทำงานร่วมกับหน่วยบริการนั้น นายวรกฤต กล่าวว่า โรงพยาบาลจะรู้จักหน่วย 50(5) อยู่แล้ว เวลาเข้าไปติดต่อในเรื่องต่างๆ ทางโรงพยาบาลจึงเข้าใจดีว่าไม่ได้มาจับผิดแต่มาเป็นตัวเชื่อมให้

“การร้องเรียนแพทย์หรือพยาบาลในพื้นที่มีไม่มาก ส่วนมาก 90% เป็นเรื่องผลกระทบจากวัคซีนโควิด-19 เป็นหลัก แต่ถ้ามีการร้องเรียนเกิดขึ้นเราจะพยายามคุยกับทุกฝ่ายเพื่อไกล่เกลี่ยก่อนซึ่งส่วนมากก็สำเร็จ ยกเว้นแต่กรณีที่ผู้รับบริการมีปัญหาแล้วเจ้าหน้าที่รัฐไม่ยอมพูดคุย ไม่ยอมลดตัวลงมาไกล่เกลี่ยด้วยเลย แบบนี้เราก็ต้องเดินเรื่องให้ชาวบ้านตามกระบวนการต่อไป” นายวรกฤต กล่าว

ทั้งนี้ Facebook ก็เป็นอีกช่องทางที่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้บทบาทภารกิจของหน่วย 50(5) แก่ประชาชน โดยตนมีอีกบทบาทในการเป็นแอดมินกลุ่มคนรักเมืองเลย เมื่อมีเคสรับเรื่องร้องทุกข์อะไรก็จะโพสต์ในสมาชิกในกลุ่มทราบ เช่น กรณีฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วต่อมาเสียชีวิต ก็ทำให้ประชาชนรู้จักหน่วย 50(5) และใช้ช่องทางนี้ติดต่อขอคำปรึกษากรณีต่างๆ เข้ามาเรื่อยๆ

2