ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หน่วยบริการ-โรงพยาบาล ภายในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งครอบคลุม 7 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย จ.ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา กำลังพัฒนาศักยภาพตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ต้องการยกระดับหน่วยบริการ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคที่เป็นปัญหาสำคัญประเทศ

โดยเฉพาะ ‘โรคมะเร็ง’

1

ภายในเขตสุขภาพที่ 12 มีการสานพลังหน่วยบริการเข้าด้วยกัน โดยใช้ความเชี่ยวชาญของ ‘โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่’ และ ‘โรงพยาบาลนาหม่อม’ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีการพัฒนาระบบบริการ (Service Plan) สาขามะเร็ง และเป็นโรงพยาบาลชุมชนแห่งแรก ที่สามารถให้เคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งได้

ผลจากการสานพลังในครั้งนี้ ก่อกำเนิดเป็นการจัดตั้ง ศูนย์มะเร็ง หาดใหญ่-นาหม่อม ภายใต้ความมุ่งหวังที่จะช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยที่ให้เคมีบำบัด โดยศูนย์ตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ และสามารถให้ ‘เคมีบำบัด’ ได้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2564

2

3

ดร.พญ. ภูเงิน คงทอง ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลหาดใหญ่-นาหม่อม เล่าว่า โรงพยาบาลมะเร็งหาดใหญ่-นาหม่อม มุ่งเน้นให้บริการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตามมาตรฐานสากลโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ มีเป้าหมายสำคัญคือ ‘ลดการส่งต่อออกนอกเขตสุขภาพ’ และเป็นศูนย์มะเร็งชั้นนำของประเทศในเขตภาคใต้ตอนล่าง

ทั้งนี้ ในปี 2566 ได้ขยายศักยภาพเพิ่มเติมด้านมะเร็งนรีเวช, โลหิตวิทยา และศัลยกรรมมะเร็ง ซึ่งสอดคล้องกับสถิติที่พบว่าโรคมะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย และทำให้เสียชีวิตประมาณ 8,000 รายต่อปี

3

จึงได้เน้นดำเนินการเชิงรุกและสื่อสารให้ประชาชนทราบว่า “มะเร็งเต้านมเจอเร็ว รักษาได้” และมีโอกาสรอดชีวิตสูง โดยจัดทำโครงการทางด่วนมะเร็งเต้านม สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อช่วยคัดกรอง และส่งรายชื่อผู้ที่เข้าเกณฑ์ของมะเร็งเต้านม ผ่านแอปพลิเคชัน Breast Cancer Fast Tract เข้าสู่ระบบของโรงพยาบาลหาดใหญ่ และนัดหมายพบแพทย์ตรวจวินิจฉัย

หากมะเร็งอยู่ในระยะต้นจะให้การรักษาจนหายขาด แต่หากพบมะเร็งในระยะหลังที่ไม่สามารถรักษาหายได้จะมีทีมดูแลช่วยเหลือให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยจะมีแผนการสร้างอาคารพักพิงญาติและผู้ป่วย เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกตลอดการเข้ารับการรักษาด้วย

2