ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองเลขาฯ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ ชี้ การสร้างระบบบำนาญผู้สูงอายุ ควรเพิ่มภาษี VAT จาก 7% เป็น 10% เปลี่ยนส่วนต่างเป็นเงินออม โอนตรงให้ ปชช. แนะ ปรับมาตรการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อนำเงินไปจัดสรรสวัสดิการ


..วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวในช่วงหนึ่งของการเสวนานโยบายสาธารณะ (Policy Dialogue) ครั้งที่ 1 หัวข้อ “ไทยพร้อมยัง.… ที่จะมีหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถานีวิทยุโทรทัศน์ และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ว่า ปัจจุบันไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยโครงสร้างประชากรปี 2566 มีผู้สูงวัย 20% วัยแรงงาน 63% และวัยเด็กเพียง 16% แต่ในปี 2583 คาดการณ์ว่าจะมีผู้สูงอายุถึง 30% ขณะที่วัยแรงงานลดลงเหลือ 55% และวัยเด็กเพียง 12% ซึ่งจะทำให้เข้าสู่ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” ที่มีผู้สูงวัยถึง 1 ใน 3 ของประชากรประเทศ นี่จึงเป็นโจทย์ที่แสดงให้เห็นความสำคัญของการสร้างหลักประกันรายได้ เพื่อให้คนมีความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อสูงวัย ทั้งนี้จำเป็นต้องมีการจัดวางแผนเพื่อพัฒนาประเทศในระยะยาว บนหลักการ “เกิดดี-อยู่ดี-แก่ดี” ด้วย

น.ส.วรวรรณ กล่าวว่า ในการจะสร้างระบบบำนาญให้ผู้สูงอายุนั้นควรมีการเพิ่มการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% ขึ้นมาเป็น 10% และเอาส่วนต่าง 3% เข้าสู่บัญชีเงินออมของคนที่ใช้จ่ายในการซื้อของอุปโภคบริโภคผ่านเลขประจำตัวบัตรประชาชน

2

นอกจากนี้ ควรจะมีมาตรการในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การมีงบประมาณเพื่อจัดสรรในการจัดสวัสดิการต่างๆ เพราะจากผลสำรวจรายได้จากภาษีรูปแบบนี้ในปัจจุบันทำได้เพียง 13% เท่านั้น จากการที่คนที่อยู่ในเกณฑ์ต้องยื่นภาษีมีมากกว่า 20 ล้านคน แต่ยื่นจริงๆ มีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ซึ่งในอัตราที่เก็บได้นี้ถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับกลุ่มประเทศในองค์การความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งเก็บได้มากถึง 24% หรือในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ได้ 16%

น.ส.วรวรรณ กล่าวต่อไปว่า ส่วนแนวนโยบายหลักในการขับเคลื่อนในปัจจุบันจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพของคนตลอดช่วงวัยตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เพื่อให้คนสามารถพึ่งตัวเองให้ได้มากที่สุด เพราะมีหน่วยทางความรู้ที่พร้อมรองรับอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นครอบครัว สถาบันการศึกษา ไปจนถึงที่ทำงาน เพียงแต่ต้องเพิ่มเติมในบางส่วน เช่น ควรมีการปลูกฝังเรื่องการนำเงินออมไปสู่การลงทุน (Financial Literacy) ตั้งแต่ในระดับประถม รวมถึงควบคู่ไปกับการให้ชุมชนเข้ามาช่วยดูแลให้เกิดเป็นระบบนิเวศ (Ecosystem)