ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

'นิมิตร์' เผย ก้าวแรกกฎหมายบำนาญแห่งชาติ สภาอนุมัติตามข้อเสนอแล้ว เตรียมหารายชื่อคนไทย 1 หมื่นคนที่เห็นด้วย เสนอนายกฯ รับรอง เผยเสนอกันมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ครั้งนี้ตั้งความหวังเต็มที่ เชื่อ เศรษฐา-เพื่อไทย เอาด้วย


นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมาสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือส่งมาหาทางเครือข่ายฯ โดยระบุใจความว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้วินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติ (ร่าง พ.ร.บ.) ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ตามที่ภาคประชาชนที่เป็นผู้ริเริ่มได้เสนอ และประสงค์เป็นผู้เชิญชวนร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว แล้ว โดยให้เหตุผลว่า เข้าเกณฑ์ในการเสนอกฎหมายตามหมวด 3 ว่าด้วยเรื่องสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งหมายความว่า เครือข่ายภาคประชาชนฯ สามารถเดินหน้าหาเปิดรับลายทิอชื่อผู้เห็นด้วย 1 หมื่นคน เพื่อยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ ทางเครือข่ายภาคประชาชนฯ จะเริ่มประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนที่อายุ 18 ไปขึ้นไปและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญฯ ให้ร่วมลงลายมือชื่อและยืนยันตัวตันเพื่อสนับสนุนกฎหมายดังกล่าว ทั้งผ่านระบบออนไลน์ทางเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำและคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดตัวได้ภายในสิ้นเดือน ต.ค. 2566 

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ครั้งนี้นับเป็นครั้ง 3 แล้ว ที่เครือข่ายภาคประชาชนฯ ได้ริเริ่มผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญฯ โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในยุครัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ครั้งที่ 2 ในปี 2562 ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งทั้ง 2 ครั้ง นายกรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหารไม่รับรองร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเนื่องจากเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ทำให้ไม่ถูกนำไปพิจารณาต่อในชั้นสภาผู้แทนราษฎร 

อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนฯ ตั้งความหวังว่ารัฐบาลชุดนี้ ซึ่งเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งอย่างพรรคเพื่อไทย จะให้ความสำคัญกับเรื่องบำนาญของผู้สูงอายุอย่างถ้วนหน้า รวมไปถึงคาดหวังว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ จะเห็นต่างจากนายกฯ ทั้ง 2 คนในอดีต และรับรองร่าง พ.ร.บ. นี้ เพื่อให้สามารถนำไปพิจารณาในสภา 

"เบื้องต้นเราหวังว่านายกฯ เศรษฐา อย่างน้อยที่สุดน่าจะยอมให้สภาพิจารณาว่าร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญฯ เป็นร่างกฎหมายการเงินหรือไม่ก็ได้ ยังไม่ต้องถึงขั้นพิจารณาเป็นกฎหมายกันเลย แต่เราหวังจริงๆ ว่าจะผลักดันเรื่องนี้ให้ได้ในครั้งนี้" นายนิมิตร์ กล่าวในตอนท้าย