ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ยินดี หาก ‘บำนาญผู้สูงอายุ’ เกิดขึ้นจริง แนะ พรรคการเมือง คำนึงถึง ‘เงินเฟ้อ-ค่าครองชีพในอนาคต’ เสนอแบ่งกำไร ‘กองสลาก-ภาษีสุขภาพ’ ตั้งกองทุนสำหรับ ‘สวัสดิการ-หลักประกันรายได้’


นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงประเด็นที่หลายพรรคการเมืองกำลังแข่งขันกันหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย โดยมีเรื่องบำนาญผู้สูงอายุ หรือบำนาญประชาชนเป็นจุดขายว่า เห็นด้วยในทางหลักการว่าควรต้องมี รวมถึงในจำนวนเงิน 3,000 บาทด้วย ทว่า แต่ละพรรคควรมีการชี้แจงถึงรายละเอียดให้มากขึ้น เช่น จะนำงบประมาณส่วนไหนมาใช้ จำนวนเงินบำนาญที่เสนอมาคำนวณจากอะไร จะมีการทบทวนทุก 2-3 ปีเพื่อปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อหรือปัจจัยอื่นๆ หรือไม่ การมีกฎหมายรองรับที่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนที่สุด

ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาในภาคประชาสังคมที่ผลักดันในเรื่องนี้ต่างก็มีฐานคิดในเรื่องต่างๆ อย่างชัดเจน เช่น จำนวนเงิน 3,000 บาท ในอนาคตอาจจะไม่เพียงพอก็ได้ เพราะมาตรฐานค่าครองชีพ หรืออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้มูลค่าที่แท้จริงจากการใช้จ่ายของประชาชนอาจลดลง อีกทั้งภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นทุกพรรคที่เสนอควรมาตั้งหลักก่อนว่าเงินบำนาญที่จะจัดสรรให้ผู้สูงอายุอยู่บนพื้นฐานอะไร

“พอเรามาพูดถึงบำนาญผู้สูงอายุ เราไม่ได้อยากแค่สักแต่ให้ๆ ไป ไม่ได้สนว่าเขาจะอยู่ได้หรืออยู่ไม่ได้แล้วแต่ ถือแค่ว่าให้ไปแล้ว แต่เราอยากว่าผู้สูงอายุที่ได้รับเงินบำนาญส่วนนี้ไปเขาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ด้วย” นางสุนทรี กล่าว

กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ระบุต่อไปว่า ถ้าหากแต่ละพรรคการเมืองสามารถตอบในรายละเอียดอย่างครบถ้วนและรัดกุมแล้ว คิดว่าจะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะงบประมาณของประเทศก็น่าจะมีเพียงพอในการนำมาใช้ เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการ เพื่อใช้ในการจัดสวัสดิการต่างๆ และเงินบำนาญผู้สูงอายุ

นางสุนทรี กล่าวต่อไปว่า อย่างการแบ่งกำไรจากสลากกินแบ่งรัฐบาล ภาษีบาป (สุราและยาสูบ) ภาษีควบคุมความเค็ม และความหวาน ภาษีจากธุรกิจด้านสุขภาพ เช่น โรงพยาบาลเอกชน บริษัทยา และนำมาตั้งเป็นกองทุนเฉพาะสำหรับทำเรื่องดังกล่าว ส่วนการลดงบส่วนอื่น หรือเพิ่มอัตราการเก็บภาษีที่ไม่กระทบกับผู้มีรายได้น้อย เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน เป็นอาทิ

ทั้งนี้ สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาจะเกิดขึ้นได้ล้วนอยู่ที่วิสัยทัศน์ของรัฐบาลว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องใดเป็นอับดับแรก และความเข้มแข็งของภาคประชาชน เพราะที่ผ่านมาเห็นแล้วว่ารัฐบาลชุดก่อนและปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงสูง งบประมาณที่เกี่ยวข้องจึงเพิ่มขึ้นอย่างมากหลายเท่าตัว