ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

HITAP ย้ำการพัฒนาสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง เปิดช่องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเสนอความคิดเห็น ตั้งแต่กระบวนการเสนอหัวข้อไปจนถึงในขั้นตอนการวิจัย 


รศ.ดร.วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวบรรยายหัวข้อ “การมีส่วนร่วมของสาธารณะและการวิจัยสามารถสนับสนุนและขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้อย่างไร” ในงานวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล 2022 เมื่อเร็วๆนี้ โดยระบุว่า หลักการที่ใช้ในการพัฒนาสิทธิประโยชน์บัตรทองมี 4 อย่าง คือ Systematic ต้องมีระบบ Transparent มีความโปร่งใส Evidence-informed มีหลักฐานเชิงประจักษ์ Participatory การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

รศ.ดร.วรรณฤดี กล่าวต่อไปว่า ในขั้นตอนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ มีตั้งแต่การเสนอหัวข้อ การคัดเลือกหัวข้อ การวิจัย/ประเมิน และการตัดสินใจ ซึ่งขั้นตอนที่สามารถมีส่วนร่วมได้ คือการเสนอหัวข้อ รองลงมาคือการคัดเลือกหัวข้อ รวมทั้งทุกอย่างเกี่ยวกับงานวิจัย เพราะงานวิจัยต้องการ input feedback ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม

“ในส่วนของการเสนอหัวข้อ จะมีลิสต์ไว้อยู่แล้วว่ามีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มไหนบ้าง ทุกคนจะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างน้อยใน 1 กลุ่ม และบางคนอาจอยู่ได้มากกว่า 1 กลุ่ม ฉะนั้นถ้าอยากให้บัตรทองมีสิทธิประโยชน์อะไร สามารถเสนอเข้ามาได้”รศ.ดร.วรรณฤดี กล่าว

ทั้งนี้ หลังจากการเสนอหัวข้อแล้ว จะมีการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละหัวข้อเพื่อทำวิจัย และในขั้นตอนการวิจัยก็จะมีไกด์ไลน์กำหนดไว้อีกว่าจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกในขั้นการเสนอโครงร่าง และครั้งที่ 2 เมื่อวิจัยเสร็จ เพื่อให้เห็นผลการวิจัยเบื้องต้น ทุกงานวิจัยที่เกี่ยวกับบัตรทองต้องผ่านกระบวนการเหล่านี้

“ปัจจุบันบัตรทองมีเครือข่ายทีมวิจัยทั้งหมด 26 ทีม แต่หัวข้อการวิจัยมีมากกว่านั้น ดังนั้นหากผู้เชี่ยวชาญท่านไหนสนใจ สามารถติดต่อมาได้เลย นอกจากนี้ ในส่วนของรายละเอียดการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์มีการรวบรวมรายละเอียดทั้งหมดแบบ one stop shop ไว้ที่ www.ucbp.nhso.go.th ทุกคนสามารถเข้าไปดูกระบวนการ ที่มาของหัวข้อ ความคืบหน้าของหัวข้อที่เสนอ ผลการศึกษาเป็นอย่างไร เราหวังว่าเว็บไซต์นี้จะเป็นอีกช่องทางในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจ”รศ.ดร.วรรณฤดี กล่าว