ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายต้านเหล้า ประกาศค้านแก้กฎหมายขยายเวลาขายน้ำเมาเต็มรูปแบบ ยกผลวิจัย HITAP ระบุ ทุกๆ 1 บาทที่ภาครัฐเก็บภาษีได้จากน้ำเมา รัฐและสังคมกลับจ่ายกลับเป็นค่าสุขภาพ-ผลกระทบถึง 2 บาท


ว่าที่ร้อยตรี สมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิ์และสิ่งแวดล้อม เปิดเผยเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2565 ตอนหนึ่งว่า การที่สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อปลดล็อคให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตั้งแต่ 14.00-24.00 น. ถือเป็นสิทธิที่ภาคธุรกิจสามารถเสนอได้ แต่เป็นการกระทำภายใต้ผลประโยชน์ของธุรกิจตัวเองหรือผลประโยชน์ของส่วนรวม ตรงนี้สังคมพิจารณาได้ไม่ยาก

ทั้งนี้ ที่มาของช่วงเวลาในการอนุญาตให้ขายสุราระหว่าง 11.00-14.00 น. และ17.00-24.00 น. นั้น เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยจอมพบ ป.พิบูลสงคราม ที่ต้องการแก้ไขปัญหาคนกินเหล้าในเวลาทำงานจนเสียงานเสียการ และบังคับใช้เรื่อยมาจนมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2558 กำหนดเวลาห้ามขายในช่วงเวลาเดียวกันโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา4 และมาตรา 28 มีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยยกเว้นท่าอากาศยานนานาชาติ 

“ดังนั้นหากเพิ่มเวลาขายตั้งแต่ 11.00 น ยันเที่ยงคืนตามข้อเสนอนี้จริง ก็เท่ากับว่ายิ่งเพิ่มเวลากินดื่ม เพิ่มเวลาเมา แล้วจะเสียงานเสียการเหมือนที่เคยเป็นกันหรือไม่ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจะถูกลดทอนลงไปด้วยมากน้อยเพียงใด จุดนี้ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ซึ่งต้องฟังเสียงจากคนที่ไม่ดื่มที่มีมากกว่าร้อยละ 70 ด้วย เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้คือคุ้มครองสุขภาพประชาชน ลดผลกระทบทางสังคม สังคมต้องช่วยกันส่งเสียงว่าเห็นด้วยหรือไม่กับข้อเสนอของกลุ่มธุรกิจ ทั้งนี้สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือทำให้กฎหมายแข็งแรงขึ้นไม่ใช่อ่อนแอลง เช่น ให้มีภาพคำเตือน หรือการห้ามใช้ตราเสมือนมาโฆษณา ฯลฯ” ว่าที่ร้อยตรีสมชาย กล่าว       

ด้าน นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าธรรมดาเหมือนสิ่งของทั่วไป เพราะมันมีผลกระทบต่อผู้อื่นซึ่งมีงานวิจัยว่ามีผลกระทบสูงที่สุดมากกว่าสิ่งเสพติดทุกชนิด จึงต้องควบคุม ยิ่งกว่ายาสูบ เพราะกระทบหลายมิติมากกว่า การจำกัดการเข้าถึงถือเป็นหนึ่งในสามมาตรการสำคัญขององค์การอนามัยโลก (WHO) รองมาจากมาตรการด้านภาษี และการควบคุมการโฆษณา

ฉะนั้นคำถามสำคัญคือทุกวันนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังไม่พออีกหรือ หากขยายเวลาขายออกไปอีกผลกระทบจะเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน กลุ่มธุรกิจจะร่วมรับผิดชอบได้หรือ เรื่องนี้มองแค่ตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจของผู้เสียประโยชน์อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูผลประโยชน์ของส่วนรวมยิ่งกว่า เพราะข้อเท็จจริงจากงานวิจัยของ Health Intervention and Technology Assessment Program (HITAP) พบว่าทุกๆ 1 บาทที่ภาครัฐเก็บภาษีได้จากน้ำเมา รัฐและสังคมกลับต้องเสียออกไปถึง 2 บาท ในค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและผลกระทบอื่นๆ โดยรวม ยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่แบบนี้ ควรให้คนส่วนใหญ่นำค่าน้ำเมาปีละกว่า 3 แสนล้านไปใช้ในสิ่งจำเป็น และดีต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย ดีกว่าไปเพิ่มความรวยให้ทุนใหญ่ที่ร่ำรวยมหาศาลอยู่แล้ว

“ข้อเสนอนี้ถือว่าเห็นแก่ได้จนเกินไป บรรดาธุรกิจน้ำเมามาช่วยกันค้าขายโดยปฏิบัติตามกฎหมายจะดีกว่าไหม ส่วนข้ออ้างเรื่องบริบททางสังคมเปลี่ยนไป เพราะองค์กรต่างๆ มีกติกาลงโทษผู้ที่ดื่มหรือมีอาการมึนเมาในเวลางานอยู่แล้วจึงไม่ควรห้ามนั้น ต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ว่าคนดื่มสุราไม่ใช่มีแค่คนในบริษัท ราชการ ห้างร้าน ที่มีกติกาควบคุม แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่อยู่นอกสังกัดเหล่านั้น ถ้าในเวลาทำงานหาซื้อกันได้ง่ายแล้ว ปัญหาต่างๆ จะตามมาเป็นเงาตามตัว ในเรื่องนี้เครือข่ายจึงคัดค้านอย่างเต็มที่และไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะบ้าจี้ตามข้อเสนอนี้” นายชูวิทย์ กล่าว