ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

HITAP เปิดงานวิจัยก้าวต่อไปของ telemedicine พร้อมถอดบทเรียน ‘อินเดีย-สิงคโปร์’ พบการออกแบบ ‘ระบบนัดหมาย’ จะหนุนเสริมบริการการแพทย์ทางไกล วงถกผู้เชี่ยวชาญ เสนอ ตรา ‘กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ให้บริการและผู้รับบริการ’ เป็นเรื่องเร่งด่วน


โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อนำเสนอข้อค้นพบและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย จากโครงการวิจัยเรื่อง “การจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อสนับสนุนการพัฒนาแนวปฏิบัติ และแนวทางการติดตามประเมินผลของระบบการแพทย์ทางไกลผ่านการถอดบทเรียนในบริบทไทยและบริบทโลก” โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทาง แผนงาน Convergence of Digital Health Platforms and Health Information Systems (HIS) Implementation in Thailand (ConvergeDH) เป็นประธาน

5

1

สำหรับการประชุมดังกล่าว ภญ.นิธิเจน กิตติรัชกุล นักวิจัย และ น.ส.วิลาวรรณ ล้วนคงสมจิตร ผู้ช่วยนักวิจัย จาก HITAP ได้ร่วมกันนำเสนอผลการวิจัย ซึ่งชี้ให้เห็นว่า โรงพยาบาลหลายแห่งได้จัดบริการการแพทย์ทางไกล (telemedicine) สำหรับผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ เพื่อตอบสนองนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในช่วงการระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา 

ทั้งนี้ แม้การระบาดของโควิด-19 จะหมดไป แต่โรงพยาบาลพบว่าสามารถใช้ประโยชน์จากการลงทุนและโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดขึ้นในการจัดบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยเฉพาะได้ดี

4

อาทิ การแจ้งผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาเพื่อฟังผลการตรวจด้วยตนเอง และสามารถซักถามแพทย์ได้ละเอียดกว่าการฟังผลทางไปรษณีย์เท่านั้น โดยผู้รับบริการมีทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 40-50 ปี ในกลุ่มอายุน้อยมักเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง แต่ในกลุ่มอายุสูงขึ้นจะเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แบ่งปันบทเรียนในต่างประเทศ คือ ‘สิงคโปร์’ และ ‘อินเดีย’ ที่พัฒนาระบบการแพทย์ทางไกลก่อนประเทศไทย โดยผู้เชี่ยวชาญจากสองประเทศนี้เน้นย้ำให้คำนึงถึงประเด็นการสร้างระบบนัดหมาย และการออกแบบระบบให้ใช้งานได้ง่าย สะดวก ไม่ซับซ้อน ทั้งสำหรับแพทย์และผู้ป่วย การเชื่อมต่อระบบให้เชื่อมต่อข้อมูลกันได้สำหรับหน่วยต่างๆ ในโรงพยาบาลเดียวกัน เช่น ผลตรวจ ยา ฯลฯ การเชื่อมต่อระหว่างสถานพยาบาล และระหว่างสถานพยาบาลกับระบบประกันสุขภาพในการจ่ายเงินสนับสนุนการให้บริการ 

4

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังเห็นว่า ‘กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ให้บริการและผู้รับบริการ’ ยังเป็นส่วนที่ประเทศไทยยังล้าหลังอยู่มากเมื่อเทียบกับความก้าวหน้าของผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และความก้าวหน้าในต่างประเทศ นับเป็นเรื่องเร่งด่วนของผู้เกี่ยวข้องในการพิจารณากฎหมายสำคัญที่ใช้ในต่างประเทศมาปรับปรุงให้เหมาะสมและนำมาใช้ในประเทศไทย และผู้เข้าร่วมประชุมต่างเห็นพ้องว่าภาครัฐควรมีบทบาทสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายในเรื่องนี้ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต.) ให้บริการการแพทย์ทางไกลผ่านการสนับสนุนของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ชนบทที่ประชาชนยังมีข้อจำกัดในการใช้อุปกรณ์ไอที ขณะที่เขตเมืองมีการจัดบริการให้ผู้ป่วยสามารถปรึกษากับแพทย์ได้โดยตรง 

4

อนึ่ง ประเทศไทยและองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก (WHO Country Cooperation Strategy: WHO-CCS) สำหรับปี พ.ศ. 2565-2569 เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกัน และได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการกำกับทิศแผนงาน Convergence of Digital Health Platforms and Health Information Systems (HIS) Implementation in Thailand (ConvergeDH) โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สธ. Government Big Data Institute (GBDI) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และ HITAP 

5

การดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมุ่งเน้นใน 4 แผนงานหลัก ดังนี้ แผนงานที่ 1: Landscape analysis ของ Digital Health และ HIS 2) แผนงานที่ 2: การจัดทำมาตรฐานข้อมูลเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล (standards and interoperability) แผนงานที่ 3: การสำรวจและศึกษาเรื่อง Open Data Policy และแผนงานที่ 4: การสำรวจและศึกษาเรื่องโรงพยาบาลบนโลกออนไลน์ (virtual hospitals) และการแพทย์ทางไกล (telemedicine) ในประเทศไทย

4

สำหรับการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อพิจารณาผลการศึกษาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฯ ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยภายใต้แผนงานที่ 4 ของโครงการ WHO-CCS และได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)