ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองเลขาธิการ สปสช. เผย ขณะนี้ สปสช. ได้นำข้อเสนอเพิ่มค่าฟอกไตสำหรับบริการ CRRT ของทาง HITAP เข้าอนุกรรมการฯ และบอร์ด สปสช. แล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษา และประเมินความพร้อมของหน่วยบริการ


นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยกับ The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ สปสช. ได้รับและนำข้อเสนอของทางโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เรื่องการให้บริการบำบัดทดแทนไตแบบต่อเนื่อง (Continuous renal replacement therapy - CRRT) เข้าคณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์และคณะอนุกรรมการพัฒนาการเงิน การคลัง รวมถึงเสนอเข้าไปที่คณะกรรมการ สปสช. (บอร์ด สปสช.) เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนเตรียมการดำเนินการ ศึกษาและประเมินความพร้อมของสถานบริการ และปัจจัยต่างๆ ของผู้ป่วยเพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนออย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.จักรกริช กล่าวว่า ข้อเสนอของทาง HITAP มีความจำเป็น และ สปสช. ก็เห็นสมควร เพราะจำนวนผู้ป่วยโรคไตวายฉับพลันในแต่ละปีอยู่ที่ 3,563 ราย ซึ่งจากข้อมูลทางวิชาการ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นไตวายเฉียบพลัน หากได้รับการบำบัดแบบ CRRT ก็จะดีต่อร่างกายผู้ป่วยมากกว่า เพราะการรักษาด้วยวิธีนี้จะมีการติดตามอาการ และดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าสังเกตไม่ให้ผู้ป่วยที่บางรายอาจเกิดภาวะไตเสื่อม จนกลายเป็นไตวายเรื้อรังได้

“จริงๆ แล้วเราไม่อยากให้ผู้ป่วยเป็นไตวายเรื้อรังอยู่แล้ว เพราะหลังจากป่วยก็ต้องทำการล้างไต ซึ่งเป็นเพียงการชะลอไม่ให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนเท่านั้น อีกทั้งวิธีสุดท้ายในการรักษาผู้ป่วย เป็นการปลูกถ่ายไต ซึ่งในปีหนึ่งหากรวมการบริจาคอวัยวะทั้งหมด จะมีเพียงพอสำหรับพันกว่าคนเท่านั้น แต่ผู้ป่วยที่ต้องการมีมากกว่าเป็นเท่าตัว” นพ.จักรกริช กล่าว

 

ทั้งนี้ การจะดำเนินการตามข้อเสนอได้ คือ 1. จำเป็นที่จะต้องสำรวจความพร้อมของหน่วยบริการทั่วประเทศเพื่อรองรับการดูแลด้วยวิธีดังกล่าว ซึ่งตรงนี้ต้องช่วยกับเคลื่อนและผลักดันกันต่อ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสถานบริการ 2 .ต้องมีการเก็บข้อมูลผู้ป่วยหลังจากเข้ารับการรักษา เพราะ สปสช. ตั้งอยู่ในสมมุติฐานที่ว่าการรักษาด้วย CRRT จะช่วยลดการเกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นไตวายเฉียบพลัน เพื่อประเมินผลว่ามีประสิทธิผล และประสิทธิภาพอย่างไร

อนึ่ง HITAP ได้เปิดเผยผลการศึกษาสถานการณ์การให้บริการ CRRT ของหน่วยบริการตามสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยมีข้อค้นพบว่า อัตราการเบิกจ่ายที่ สปสช. กำหนด ยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในการให้บริการ ซึ่งหาก สปสช.มีการปรับเพิ่มอัตราการจ่าย จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น

งานวิจัยฉบับดังกล่าว ระบุว่า สถานการณ์ผู้ป่วยที่ต้องใช้บริการ CRRT มีทั้งสิ้นปีละ 3,563 ราย จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วย 1 ราย จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วย CRRT ประมาณ 57,000 ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมค่าแรงบุคลากรทางการแพทย์และค่าลงทุน โดยรัฐจะต้องใช้งบประมาณเฉลี่ยปีละ 204 ล้านบาทหากคิดเฉพาะต้นทุนค่าวัสดุ หรือ 383 ล้านบาทหากคิดต้นทุนค่าวัสดุและค่าแรง และ 416 ล้านบาทหากคิดรวมต้นทุนค่าวัสดุ ค่าแรงและค่าลงทุน (เฉพาะครุภัณฑ์)

นอกจากนี้ จากการสำรวจความพร้อมและศักยภาพของหน่วยบริการที่ให้บริการ CRRT จำนวน 104 แห่งทั่วประเทศ พบว่ามีโรงพยาบาลที่ให้บริการ CRRT จำนวน 53 แห่ง กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยโรงพยาบาลส่วนใหญ่ ร้อยละ 88 เห็นตรงกันว่า ภาครัฐควรสนับสนุนค่าบริการ CRRT เพิ่มขึ้น เฉลี่ยรายละ 25,563 บาท ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายแก่โรงพยาบาลบางส่วน และเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการผู้ป่วยไตวายได้มากขึ้น