ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันที่ 20 ต.ค. ที่กำลังจะถึงนี้ ถือเป็นวัน World Evidence-Based Healthcare Day หรือ “วันดูแลสุขภาพอิงหลักฐานโลก” ซึ่งเป็นวาระที่ชวนให้คนทั่วโลกร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ข้อมูลร่วมกับการให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพ

มากไปกว่านั้น ในวันเดียวกันนี้ยังเป็นวาระคล้ายวันครบรอบ 15 ปี ของการก่อตั้ง โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายสุขภาพ (HITAP) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มุ่งใช้ข้อมูลและงานวิจัยในการสนับสนุนระบบสุขภาพและระบบบริการสุขภาพของไทยอีกด้วย

อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึง “งานวิจัย” คนทั่วไปจำนวนหนึ่งอาจจะทำหน้าเหยเก เพราะชวนให้นึกไปถึงความซับซ้อนของมันที่ประกอบด้วยข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งทำความเข้าใจไม่ง่าย และ “จับต้องได้ยาก” แม้จะเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพก็ตาม

ทว่า HITAP ได้ทำให้งานวิจัยกลายเป็นส่วนสนับสนุนจนเกิดเป็นบริการสุขภาพที่ “คนไทยทุกคนจับต้องได้”

ด้วยการทำงานร่วมกับ ผู้กำหนดนโยบายจากหลากหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ดูแลสุขภาพประชาชนราว 47 ล้านคนในระบบบัตรทอง และมีบริการสุขภาพจากชุดสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมประชาชนไทยทุกคน

2

สำหรับตัวอย่างในช่วงที่ผ่านมา เช่น นโยบายการล้างไตทางช่องท้องทางเลือกแรก (PD first) สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง เมื่อปี 2551 ตลอดจนบริการบำบัดทดแทนไตต่อเนื่อง (CRRT) สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายเฉียบพลัน ในปี 2565 หรือ สิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ที่เพิ่มเข้าเป็นสิทธิประโยชน์เมื่อเดือน พ.ค. 2565 เพื่อช่วยผู้ที่มีภาวะกลั้นการขับถ่ายไม่อยู่

นอกจากนี้ยังได้ร่วมพัฒนา บัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งเป็นรายการยาที่ประชาชนในสิทธิหลักประกันสุขภาพของภาครัฐ เช่น สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ฯลฯ สามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดย HITAP และหน่วยงานเครือข่ายได้ใช้งานวิจัยมาสนับสนุนการตัดสินใจ ทั้งด้านความปลอดภัย ประสิทธิผล และงบประมาณที่เหมาะสม ช่วยให้เกิดการพิจารณายาใหม่ ๆ อย่างรอบด้าน รวมถึงการต่อรองราคายากับบริษัทยา ทำให้ภาครัฐใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ไม่เพียงเท่านั้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 HITAP ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรมการประมวลสถานการณ์ COVID-19 กระทรวงสาธารณสุข (MOPH Intelligence Unit หรือ MIU) ซึ่งเป็นทีมวิจัยเพื่อสร้างแนวทางการตัดสินใจเชิงนโยบายให้ทันต่อการทำงานมากขึ้นในด้านมาตรการต่อสู้โรคโควิด -19 เช่น วัคซีนโควิด-19 และยา Evusheld อีกด้วย

เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานเท่านั้นจากตลอดระยะเวลา 15 ปีที่  HITAP ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนระบบสุขภาพของไทย หลังถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2550 ในฐานะโครงการพิเศษภายใต้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ด้วยเป้าหมายที่จะทำให้สังคมไทย มี-เข้าถึง-ใช้ เทคโนโลยีด้านสุขภาพ ตลอดจนการทำวิจัยและประเมินผลบริการสุขภาพ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดทิศนโยบาย และที่สำคัญคือสร้างความคุ้มค่าให้กับการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศ

นอกจากนี้ ทาง HITAP ยังเห็นว่าบทบาทที่ทำอยู่นั้นไม่ได้มีความสำคัญแค่ภายในไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น แต่ยังสำคัญกับประเทศอื่นๆ จึงได้ก่อตั้งฝ่ายต่างประเทศ (HIU) ขึ้นในปี 2556 เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างประเทศ

3

ซอดามินี ดาบัค (Ms. Saudamini Dabak) หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศ HITAP บอกกับ “The Coverage” ว่า หลายประเทศมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างระบบสุขภาพของตัวเองขึ้นมา และการจะทำเช่นนั้นได้ต้องทำอยู่บนฐานข้อมูลและงานวิจัย และประเทศไทยเองก็มีแนวทางในการสร้างระบบสุขภาพที่เป็นหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทย รวมถึงการทำงานร่วมกับประเทศต่างๆ มากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

ในส่วนของประเทศที่ได้ต่อยอดแนวคิดการให้บริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชน เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีการส่งนักวิจัยมาร่วมศึกษาและเยี่ยมชมการใช้งานวิจัยเพื่อสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย อาจเรียกได้ว่าเป็นการวางพื้นฐานระบบการวิจัยเลยก็ว่าได้ ซึ่งทาง ฟิลิปปินส์ ยังเดินหน้าจนเกิดเป็นกฎหมายที่สนับสนุนการวิจัยเพื่อสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เกิดขึ้น มีศูนย์การวิจัยระบบสุขภาพที่มีกฎหมายรองรับ และยังทำวิจัยเพื่อต่อยอดพัฒนานโยบายของรัฐบาลฟิลิปปินส์โดยตรง

ซอดามินี บอกว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา หากมองถึงการวิจัยระบบสุขภาพในภูมิภาคเอเชีย พบว่า หลายประเทศมีความเข้มแข็งทางด้านงานวิจัยมากขึ้น แต่สำหรับ HITAP เอง นั่นเป็นโอกาสใหม่ในการทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นนักวิจัยที่จะมาเป็นเครือข่ายร่วมกันในรูปแบบที่ต่างออกไป และถือเป็นการสร้างความท้าทายใหม่ร่วมกันสำหรับการวิจัย

“HITAP ยังคงเป็นหน่วยงานวิชาการที่จะสนับสนุนงานวิจัยเชิงนโยบาย เพื่อพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข เพราะงานวิจัยสามารถนำมาใช้สนับสนุนสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ ทุกอย่างล้วนมีองค์ประกอบของสุขภาพเข้าไปเกี่ยวข้อง และจะเกี่ยวข้องกับทุกคน ดังนั้น งานวิจัยจะต้องมีส่วนช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน 

2

สำหรับขอบเขตของงานในประเทศไทยที่ทาง HITAP วางไว้ในอนาคตต่อจากนี้ ดร. ภญ.ปฤษฐพร กิ่งแก้ว หัวหน้าฝ่ายวิจัย HITAP อธิบายเพิ่มกับ The Coverage ว่า มีอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน ประกอบด้วย 1. การใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) มาสนับสนุนการวิจัยจากการเชื่อมระบบฐานข้อมูลในระบบบริการสุขภาพ เพื่อให้ครอบคลุมขอบเขตไปยังสิทธิการรักษาพยาบาลอื่นๆ รวมทั้งเพื่อใช้ข้อมูลมาสนับสนุนการพัฒนานโยบายด้านสุขภาพ 2. การสร้างกลไกการประเมิน Digital Health อย่างเป็นระบบ และ 3. การทำระบบการประเมินเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นทาง (Early HTA) เพื่อให้บริการ หรือนโยบายที่ออกมามีประโยชน์และมีความคุ้มค่ามากขึ้น

เมื่อถามถึงก้าวต่อไปในอนาคตของ HITAP ดร. ภญ.ปฤษฐพร บอกว่า “HITAP จะอยู่ตรงนี้ เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนงานวิจัยหรือข้อเสนอทางนโยบายให้กับระบบบริการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นผู้กำหนดนโยบายในกระทรวง หรือนอกกระทรวงเองก็ตาม แล้วก็จะมีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของลักษณะของงานวิจัยที่จะมุ่งไปยังสิ่งที่สำคัญมากขึ้น ทั้งเรื่องสุขภาพ ตลอดจนสิ่งแวดล้อม

1

รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวเสริมว่า ตอนนี้เรากำลังพยายามหาช่องทางเพื่อรับโจทย์หรือความต้องการข้อมูลทางสุขภาพที่ประชาชน ประชาสังคม หรือที่ทุกกลุ่มสนใจ อยากให้คนพอเห็น HITAP แล้วรู้ว่าเราทำงานเพื่อประชาชน แล้วถ้าเขาต้องการข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพเราสามารถสนับสนุนเขาได้

ทั้งหมดนี้ถือเป็นอีกส่วนที่ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของข้อมูลและงานวิจัยในด้านบริการสุขภาพ อีกทั้งยังเป็นหลักการที่ HITAP ยึดมั่นในการพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อประชาชนทุกคนอีกด้วย