ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

HITAP ร่วมกับ 11 หน่วยงาน จากภาครัฐ-ภาคเอกชน-ภาคประชาชน จัดประชุมหารือ ผลกระทบการเพิ่มเพดานความคุ้มค่ากับการตัดสินใจเลือกยาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ


โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) จัดการประชุมเพื่อหารือ และนำเสนอการศึกษาโครงการวิจัยเรื่อง ผลกระทบของการเพิ่มเพดานความคุ้มค่าในอดีตที่ผ่านมาที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของราคายา การตัดสินใจคัดเลือกยาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ และภาระงบประมาณของเจ้าภาพกองทุนต่างๆโดยทีมวิจัย HITAP ร่วมกับนักวิจัยจาก อย. ได้แก่ Dr. Ryota Nakamura จากมหาวิทยาลัย Hitotsubash และ Dr. Hwee Lin Wee กับ Dr. Yi Wang จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์

ทั้งนี้ ได้ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จำนวน 11 หน่วยงาน ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) องค์กรเภสัชกรรม (อภ.)กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (สกสว.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ และ ภาคประชาชน

ในส่วนของงานวิจัยดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ (รอบปี พ.ศ. 2562 – 2564) ได้รับความเห็นชอบจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคส่วนต่างๆ ถึงเรื่องการเพิ่มเพดานความคุ้มค่าว่าจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของการเลือกยาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติหรือไม่ จึงมีมติเห็นชอบให้คณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขทบทวนผลกระทบการปรับเพิ่มเพดานความคุ้มค่าจาก 2 ครั้งที่ผ่านมา

1

.กิตติคุณ นพ.เกรียง ตั้งสง่า อดีตประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เปิดเผยถึงผลการศึกษาว่า การปรับเพิ่มเพดานความคุ้มค่าจะมีผลกระทบต่อราคายาที่ใช้ในการศึกษาความคุ้มค่าอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ มีผลกระทบต่อการตัดสินใจของคณะอนุกรรมการฯ ในการบรรจุยาใหม่เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่สามารถตอบในประเด็นว่ามีผลกระทบต่อภาระงบประมาณของระบบประกันสุขภาพหรือไม่เนื่องจากข้อมูลไม่เพียงพอจากผลการศึกษา

ศ.กิตติคุณ นพ.เกรียง กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ ยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มเพดานความคุ้มค่าในประเทศไทยในขณะนี้ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานว่าการปรับเพิ่มจะมีผลต่อการตัดสินใจของคณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติในการบรรจุยาใหม่ และจากงานวิจัยนี้ยังพบว่ามีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายด้านที่มีผลต่อราคายาและโอกาสที่ยาจะเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ได้แก่ ยารักษาโรคหายาก ยาที่มีสิทธิบัตร

อย่างไรก็ตาม หากมีกลุ่มตัวอย่างของชุดข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์เพิ่มขึ้นอาจส่งผลต่อข้อสรุปของงานวิจัยนี้ในอนาคต จึงควรมีการเก็บข้อมูลของผลการศึกษาความคุ้มค่าของยาใหม่ และผลการตัดสินใจของคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ รวมถึงข้อมูลการเบิกจ่ายยาของทั้ง 3 กองทุน อันได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สปส. และกรมบัญชีกลาง ด้วย

 “นโยบายการเพิ่มเพดานความคุ้มค่านี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐที่จะมองตรงนี้อย่างไร มองเป็นส่วนเพิ่มเติม หรือเป็นส่วนสำคัญจำเป็น ในประเทศอื่น เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ จะเห็นได้ว่านโยบายเขาชัดเจน เพราะฉะนั้นนโยบายมันจะขับเคลื่อนได้ มันก็ขึ้นอยู่ที่ วิสัยทัศน์มาบวกกับ การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ จึงทำให้เกิดการลงทุน ศ.กิตติคุณ นพ.เกรียง ระบุ

2

รศ.ดร.วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย หัวหน้าโครงการ และนักวิจัยอาวุโส จาก HITAP ได้กล่าวในประเด็นการปรับเพิ่มเพดานความคุ้มค่านี้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกรณีการเพิ่มเพดานความคุ้มค่านี้เพียงประเทศเดียว และหากเป็นไปได้อยากพัฒนาให้ข้อมูลนี้เข้าถึงได้แบบสาธารณะ เพื่อให้ผู้ที่สนใจจากกลุ่มต่าง ๆ สามารถนำข้อมูลชุดนี้ไปใช้ศึกษามากขึ้น

ด้าน นายเอกวัฒน์ สุวันทโรจน์ และ นายบุญ พุฒิพงศ์ธนโชติ ตัวแทนภาคประชาชนจากเครือข่ายผู้ป่วยฮีโมฟีเลียและโรคหายาก กล่าวว่า นโยบายเกี่ยวกับโรคหายากมีการเปิดกว้างมากขึ้นกว่าในอดีตมาก มีการพัฒนาทั้งนโยบายและการเงินการคลังที่ทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษามากขึ้น

ดังนั้นการกำหนดค่า ICER และการปรับเพิ่มเพดานความคุ้มค่าจึงไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่นำมาใช้ในการตัดสินใจคัดเลือกยาสำหรับโรคหายาก แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มาเกื้อกูลให้เกิดขึ้นได้ สำหรับการต่อยอดจากงานวิจัยนี้ควรมีตัวแทนกลุ่มผู้ป่วยเข้ามาร่วมในการศึกษาเชิงคุณภาพในอนาคตร่วมด้วย

3

อนึ่ง สำหรับเพดานความคุ้มค่า (cost-effectiveness threshold: CET) หมายถึง ความเต็มใจจ่ายของผู้กำหนดนโยบายสำหรับการลงทุนด้านสุขภาพ การประเมินความคุ้มค่าเป็นการคำนวณต้นทุนและผลลัพธ์ที่เพิ่มขึ้นจากยาใหม่เมื่อเปรียบเทียบกับยาเดิม ผลการประเมินความคุ้มค่าจะแสดงในรูปแบบของ อัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม (incremental cost-effectiveness ratio: ICER) มีหน่วยเป็น บาทต่อปีสุขภาวะ 

การประเมินความคุ้มค่าเป็นข้อมูลหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายในการจัดสรรทรัพยากรด้านสุขภาพที่เหมาะสม การตัดสินใจว่ายาใหม่มีความคุ้มค่า พิจารณาจากกรณี ICER มีค่าต่ำกว่า CET โดยภาครัฐมีแนวโน้มจะลงทุนในเทคโนโลยีและนโยบายที่คุ้มค่าก่อน การตัดสินใจในกระบวนการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติก็เช่นกัน เพดานความคุ้มค่าใช้เป็นเกณฑ์หนึ่งที่สำคัญใช้พิจารณาว่ายารายการใดควรบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ 

อย่างไรก็ดี การกำหนดเพดานความคุ้มค่าที่สูงอาจส่งผลให้รายการยาที่มีความคุ้มค่ามีจำนวนมากขึ้นและเพิ่มภาระงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศมากขึ้น แต่การกำหนดเพดานความคุ้มค่าที่ต่ำเกินไปอาจส่งผลให้การเข้าถึงยาของประชาชนลดลง

2