ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภายหลังจากการมีผลบังคับใช้ของ หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่อให้การถ่ายโอนเกิดขึ้นอย่างราบรื่น ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานชุดต่างๆ ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นความท้าทายของระบบสุขภาพ ทั้งในการบริหารจัดการระบบและการจัดบริการสุขภาพที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และเป็นความท้าทายด้านวิชาการที่จะผลิตองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบาย ทั้งในระดับหน่วยงาน และคณะกรรมการชุดต่างๆ โดยโจทย์วิจัย ปัญหา หรือช่องว่างของความรู้มีจำนวนมาก

ในขณะที่การถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2565 ทำให้ความต้องการองค์ความรู้ แนวทางปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีเป็นจำนวนมากและเป็นไปอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็น ด้านรูปแบบบริการ มาตรฐานการบริการ กำลังคนที่จะให้บริการ ค่าตอบแทน สวัสดิการ การกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพของผู้ให้บริการใน รพ.สต.

รวมไปถึงระบบข้อมูลการให้บริการ ระบบยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาที่ รพ.สต. เคยได้รับสนับสนุนจากโรงพยาบาลชุมชน ระบบการเงินการคลังที่ รพ.สต. เคยได้รับงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบบการกำกับดูแล รพ.สต. ที่เคยได้รับจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ให้ข้อมูลถึงเรื่องนี้ว่า ในเดือนตุลาคม 2565 จะมี รพ.สต. จำนวน 3,264 แห่ง โอนย้ายจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไปสังกัด อบจ. 49 แห่ง ซึ่งมีทั้งรูปแบบที่ รพ.สต. ทุกแห่งในจังหวัดไปอยู่กับ อบจ. เช่น อบจ.สุพรรณบุรี และรูปแบบที่ รพ.สต. บางแห่งในจังหวัดย้ายไปอยู่กับ อบจ.

อย่างไรก็ตาม กระบวนการถ่ายโอนมีคำถามเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และ สวรส. พยายามที่จะทำวิจัยเพื่อหาคำตอบ เพื่อให้การถ่ายโอนครั้งนี้เกิดปัญหาและอุปสรรคน้อยที่สุด โดย สวรส. ได้มอบหมายให้ทีมวิจัยกว่า 10 ทีมดำเนินการทำวิจัยเพื่อหาแนวทางปฏิบัติหรือข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาในช่วงเปลี่ยนผ่าน เช่น การจัดการบัญชีการเงินของ รพ.สต. ที่จะถ่ายโอนในช่วงสุญญากาศ

สำหรับการถ่ายโอน รพ.สต. ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 ต.ค. 2565 รพ.สต. ยังอยู่คงอยู่สังกัด สธ. แต่มีการปิดบัญชีการเงินแล้ววันที่ 30 ก.ย. 2565 ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีวิธีปฏิบัติจากฝั่ง สธ. ในเรื่องการจัดการบัญชีการเงินที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 ต.ค. 2565 ก่อนที่จะถ่ายโอนไปอยู่กับ อบจ. ในวันที่ 2 ต.ค. 2565 และจำเป็นต้องมีวิธีปฏิบัติและการเตรียมใบเสร็จรับเงินและเอกสารการเงินอื่นๆ จาก อบจ. ให้พร้อม สำหรับการเปลี่ยนผ่านก่อนวันที่ 3 ต.ค. 2565

1

นอกจากนั้น ด้านการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบุคลากรใน รพ.สต. ที่จะถ่ายโอน ซึ่งตามระเบียบว่าด้วยการมอบหมายให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมปี 2539 และวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ระบุชี้ชัดให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เป็นผู้กำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบุคลากรใน รพ.สต. ซึ่งแต่ก่อน รพ.สต. อยู่ในสังกัดของ สธ. และกำกับดูแลโดย สสจ.

ดังนั้น นพ.สสจ. จึงเป็นผู้กำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบุคลากรใน รพ.สต. ไปโดยปริยาย ดังนั้นเมื่อมีการถ่ายโอน รพ.สต. ไปอยู่ในสังกัด อบจ. ตามคู่มือแนบท้ายหลักเกณฑ์การถ่ายโอน รพ.สต. ปี 2564 จึงระบุให้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ระหว่าง อบจ. และ สสจ. ในการกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและอื่นๆ ใน รพ.สต.ที่จะถ่ายโอนไปอยู่กับ อบจ. โดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 มีเพียง 5 จังหวัดเท่านั้น ที่มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจฯ จากทั้งหมด 49 จังหวัดที่จะมีการถ่ายโอน รพ.สต.

ในส่วนของแนวทางการแก้ไขปัญหาคือ อาจพิจารณาใช้ข้อ 19 ของระเบียบว่าด้วยการมอบหมายให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมปี 2539 ให้ สธ. ชี้ขาดและกำกับให้เป็นไปตามระเบียบนี้ ส่วนเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษของบุคลากร รพ.สต. ที่จะถ่ายโอน ซึ่งค่าตอบแทนพิเศษฉบับที่ 5 ฉบับที่ 11 ของข้าราชการ พนักงานจ้าง และลูกจ้างของ อบจ. มีระเบียบของ ก.ก.ถ. ที่สามารถใช้เงินบำรุงของ รพ.สต. ในการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษได้

ขณะที่อัตราการเบิกจ่าย ให้อ้างอิงระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขของ สธ. แม้ว่าจะมีระเบียบออกมารองรับแล้ว เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในทางเดียวกัน จึงจำเป็นต้องมีการออกแนวทางปฏิบัติ การซักซ้อมทำความเข้าใจ และการระบุอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจน ในส่วนของค่าตอบแทนพิเศษของบุคลากร รพ.สต. ที่จะถ่ายโอนที่อยู่ระหว่างรอการตกเบิกในปัจจุบัน สธ.จำเป็นต้องเร่งการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย. 2565

ทั้งนี้ สวรส. มอบหมายให้นักวิจัยดำเนินการวิจัยในหลายจังหวัด เช่น สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี ระยอง ขอนแก่น เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานในแต่ละด้าน หรือข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดการในระยะเปลี่ยนผ่านการถ่ายโอนภารกิจฯ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยประสานงานกับ อบจ. สสจ. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต ร่วมหารือถึงแผนการขับเคลื่อนภารกิจการถ่ายโอนให้สอดคล้องกันโดยไม่มีผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพของประชาชน

2

ตัวอย่างเช่น งานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาต้นแบบระบบสุขภาพปฐมภูมิขององค์การบริหารส่วนจังหวัด: กรณีศึกษาองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง” เป็นอีกหนึ่งวิจัยการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ ที่ สวรส.เร่งศึกษา เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ต้นแบบแนวทางการเตรียมความพร้อมระบบสุขภาพปฐมภูมิ ในการรองรับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ของ อบจ.ระยอง ในปีงบประมาณ 2566 

โดย สวรส. ได้ร่วมกับคณะรัฐประศาสนศาตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ อบจ.ระยอง จัดเวทีสาธารณะขึ้น ณ โรงแรมโกลเด้นซิตี้ จ.ระยอง เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่ อบจ. และหน่วยงานในพื้นที่ทุกภาคส่วนที่มีบทบาทตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562

ในเวทีดังกล่าว มีการเสวนาและบรรยายพิเศษหัวข้อต่างๆ เช่น การควบคุมคุณภาพการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิของ อบจ. บทบาทของหน่วยงานสังกัด สธ. ความพร้อมของกองสาธารณสุขท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ แนวทางการบริหารภารกิจถ่ายโอน สอน. และ รพ.สต. ของ อบจ. โดยมีผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีกว่า 100 คน อาทิ คณะผู้บริหาร อบจ. สมาชิกสภา อบจ. ข้าราชการ อบจ. คณะผู้บริหารของ สสจ. สสอ. ผู้อำนวยการ รพ.สต. และเจ้าหน้าที่ ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด กรรมการในคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เป็นต้น