ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายนักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) พร้อมคณะ ได้จัดทำบทสรุปการดำเนินโครงการ “การวิเคราะห์ผลกระทบของโควิด-19 ต่อระบบสาธารณสุขเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการปรับตัวของระบบบริการต่อการระบาดและความยั่งยืนของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย” เพื่อตอบคำถามงานวิจัยเกี่ยวกับบริการสุขภาพที่แผนกผู้ป่วยนอกประเภทใดบ้าง ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นและลดลงในระหว่างการล็อคดาวน์และหลังการล็อคดาวน์ของปี พ.ศ. 2563 เทียบกับปี พ.ศ. 2560 - 2562

สำหรับการศึกษาดังกล่าว เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิ (secondary data) ซึ่งเป็นข้อมูลจำนวนการรับบริการในแผนกผู้ป่วยนอก (OPD) สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จากข้อมูลระดับบุคคล (individual-level data) จากคลังข้อมูลสุขภาพ 43 แฟ้ม ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์เป็นข้อมูลที่มีการปกปิดตัวตนและไม่สามารถเข้าถึงตัวบุคคลได้ (de-identified by encryption) ระหว่าง มกราคม พ.ศ. 2560 - ธันวาคม พ.ศ. 2563

Interrupted-time series analysis เป็นวิธีการทางสถิติที่ใช้ในการเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก่อนและหลังเหตุการณ์หรือรับการรักษา โดยมีการปรับผลของเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล 

การศึกษานี้ใช้ในการประเมินผลกระทบของโควิด-19 และมาตรการล็อคดาวน์ต่อจำนวนการเข้ารับบริการ ข้อมูลที่ใช้เป็นจำนวนการรับบริการในแผนกผู้ป่วยนอก ซึ่งเป็นข้อมูลผลรวม (aggregated data) ต่อเดือน โดยแบ่งข้อมูลออกเป็น 3 ช่วง คือ ก่อนการระบาด (ม.ค. 2560 – ธ.ค. 2563) ช่วงล็อคดาวน์ (เม.ย – มิ.ย. 2563) ช่วงคลายล็อคดาวน์ (ก.ค. – ธ.ค. 2563)

ในส่วนของข้อมูลสำคัญจากงานวิจัย พบว่าก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด การเข้ารับบริการในแผนก OPD แต่ละปีมีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล (seasonality) และจำนวนการเข้ารับบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี โดยมาตรการล็อคดาวน์ทำให้จำนวนผู้ใช้บริการที่แผนก OPD ลดลงถึง 28% เมื่อเทียบกับช่วงที่โควิด-19 ยังไม่มีการแพร่ระบาด

มาตรการล็อคดาวน์ส่งผลกระทบต่อจำนวนการเข้ารับบริการเกือบทุกกลุ่มโรค ยกเว้นกลุ่มโรคเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การคลอด และระยะหลังคลอด ส่วนสาเหตุภายนอกของการเจ็บป่วยและการตายที่มีการรับบริการไม่ต่างจากเดิม

ผู้ป่วยกลุ่มโรคระบบหายใจ (respiratory system) และระบบทางเดินอาหาร (digestive system) เป็น 2 กลุ่มโรคที่ได้รับผลกระทบเชิงบวก คืออาจมีจำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อมีมาตรการล็อคดาวน์

อย่างไรก็ดี แม้มาตรการล็อกดาวน์จะสร้างผลกระทบต่อการเข้ารับบริการที่แผนก OPD ในภาพรวม และสร้างผลกระทบหนักต่อกลุ่มอายุ 0-20 ปี แต่สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังยังสามารถเข้ารับบริการได้เกือบเท่าปกติ

ทั้งนี้ ภายหลังผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ พบว่าจำนวนการเข้ารับบริการที่แผนก OPD เพิ่มกลับมาอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นความยืดหยุ่นที่ดีของผู้ให้และผู้รับบริการสุขภาพในประเทศไทย

งานวิจัย ระบุอีกว่า ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าระบบสุขภาพไทยมีความยืดหยุ่นที่ดี (resilience) กล่าวคือในขณะที่มีมาตรการล็อกดาวน์ก็สามารถลดจำนวนการให้บริการลงได้อย่างมีประสิทธิผล และเมื่อคลายล็อกดาวน์ก็กลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดีควรมีการศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จเช่นนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้มากยิ่งขึ้นในอนาคต

อนึ่ง การศึกษานี้พิจารณาเฉพาะจำนวนการใช้บริการโดยยังไม่ได้เปรียบเทียบกับผลลัพธ์ด้านสุขภาพจากการลดจำนวนบริการลงในช่วงล็อคดาวน์ เช่น อัตราการนอนโรงพยาบาลจากการมีอาการแทรกซ้อน หรืออัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยหรือประชากรโดยรวม ฯลฯ ฉะนั้นควรมีการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการศึกษาที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น